เจ้าสามแผ่นดิน
ปีพุทธศักราช ๑๘๓๕ ณ แม่น้ำขุนภู สถานที่ที่สามกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ คือ พ่อขุนรามคำแหง พ่อขุนเม็งราย และ พญางำเมือง ร่วมดื่มน้ำให้สัจจะปฏิญาณ ร่วมกันว่า “นับตั้งแต่บัดเดี๋ยวนี้ แผ่นดินทั้งสามของข้า จักเป็นมิตรไมตรีต่อกัน บ่มิได้กระทำการรุกล้ำซึ่งกันและกัน แลข้าทั้งสาม จักซื่อตรงต่อกันจนกว่าจักตาย ใครบ่ซื่อบ่ตรง คิดคดแก่กัน ขอให้ตายในสามวัน อย่าให้ทันสามเดือน อย่าให้เคลื่อนในสามปี” ย้อนกลับไปเมื่อห้าสิบปีก่อน ที่เมืองราดซึ่งมีพ่อขุนผาเมือง เป็นพ่อเมืองและพระนางสิงขรมหาเทวี(เจ้าหญิงขอม)เป็นแม่เมือง มีสหายสนิท คือพ่อขุนบางกลางท่าว เจ้าเมืองบางยาง พ่อขุนผาเมืองมีบิดานามว่า พ่อขุนศรีนาวนัมถม เป็นเจ้าแคว้นสุโขทัย มีน้องสาว นามว่า นางเสือง ซึ่งได้แต่งงานกับพ่อขุนบางกลางท่าวเป็นแม่เมืองบางยาง ต่อมาพ่อขุนศรีนาวนัมถมได้เสด็จสู่สวรรณคาลัย จึงเปิดโอกาสให้สมาตรโขลญลำพงนำไพร่พลเข้าไปยึดแคว้นสุโขทัย เมื่อข่าวนี้ล่วงรู้ถึงพ่อขุนผาเมืองและพ่อขุนบางกลางท่าว ทั้งสองพระองค์จึงได้วางอุบายนำไพร่พลเข้าตีโอบล้อมแลยึดเมืองศรีสัชนาลัยและแคว้นสุโขทัยกลับคืนมา และอภิเษกให้พ่อขุนบางกลางท่าวขึ้นเป็นพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ปกครองแคว้นสุโขทัยสืบต่อมา หลังจากนั้นอีก ๔ปี พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ได้ส่งสาสน์เชิญพ่อเมืองต่างๆ คือ พ่อขุนมิ่งเมือง (พ่อเมืองภูคามยาว) พญาลาวเม็ง (พ่อเมือง หิรัญนครเงินยาง) เจ้ารุ่งแก่นชาย (พ่อเมืองเชียงรุ้ง) ขุนสามชน (พ่อเมืองฉอด) ให้มาประชุม ณ แคว้นสุโขทัย ในเรื่องที่จะงดส่งสวยเพื่อแข็งเมืองต่อขอม แต่ขุนสามชนนั้นไม่เข้าร่วมด้วยเนื่องจากเห็นว่าไม่ใช่กิจของตนยิงมิร่วมด้วย ซึ่งต่อมาพ่อขุนศรีอินทราทิตย์และเจ้าเมืองต่างๆก็แข็งเมืองต่อขอมสำเร็จ ต่อมาราชบุตรของทั้ง 3แคว้น คือ เจ้าราม เจ้ามังราย และเจ้างำเมืองได้ไปร่ำเรียนอยู่ที่สำนักพ่อปู่ฤาษีสุกทันต์ด้วยกัน จนกระทั่งทั้งสามเข้าสู่วัยหนุ่มและร่ำเรียนรู้หลวกวิชาต่างๆจนสิ้นแล้ว จึงได้ลาพ่อปู่คืนบ้านเมืองของแต่ละพระองค์ โดยที่เจ้างำเมืองขอแยกคืนเมืองภูคามยาวไปก่อน ส่วนเจ้ารามได้ติดตามเจ้ามังรายย่ามไปเยือนเมืองหิรัญนครเงินยาง แต่เมื่อทั้งสองพระองค์ไปถึงก็ได้พบกับความเศร้าโศกเพราะพญาลาวเม็งทรงประชวรหนักและเสด็จสู่สวรรณคาลัย เจ้ามังรายจึงได้อภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์องค์ที่ ๒๕ แห่งแคว้นหิรัญนครเงินยางสืบไป ต่อมาเจ้ารามคืนแคว้นสุโขทัยและได้กระทำยุทธหัตถีกับขุนสามชนเจ้าเมืองฉอดจนชำนะ พ่อขุนศรีอินทราทิตย์จึงทรงประกอบพระราชพิธีพระราชทานชัยมงคลนามให้แก่เจ้าราม ว่า“เจ้ารามคำแหง” ต่อมาลุปีพุทธศักราช ๑๘๒๒ พ่อขุนบาลเมือง กษัตริย์แห่งแคว้นสุโขทัยรัชกาลที่ ๒ ได้เสด็จสู่สวรรคาลัย เจ้ารามคำแหงอุปราชผู้ครองเมืองศรีสัชนาลัย จึงเสด็จขึ้นครองแคว้นสุโขทัยเป็นเป็นกษัตริย์องค์ที่สามแห่งแคว้นสุโขทัยสืบต่อมา ลุปีพุทธศักราช ๑๘๒๖ ภายหลังจากพ่อขุนรามคำแหงได้ทรงเสด็จขึ้นครองราชย์เพียง ๖ ปี ด้วยพระวิริยะอุตสาหะอันแรงกล้า พ่อขุนรามคำแหงได้ทรงคิดค้นประดิษฐ์ลายสือไทไว้ ให้เป็นลายสือประจำชาติไทยจนทำให้ชาติไทยได้มีตัวอักษรไว้ใช้สืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน ลุปีพุทธศักราช ๑๘๓๙ พญามังราย กษัตริย์ต้นวงศ์มังราย ผู้รวบรวมแลก่อตั้งอาณาจักรล้านนา ได้พบชัยภูมิที่ดี แลที่เหมาะแก่การตั้งเวียงให้เป็นเมืองหลวงแห่งอาณาจักรล้านนาอันประกอบด้วยมงคลเจ็ดประการจึงได้มีลายสือไปเชิญพ่อขุนรามคำแหง กษัตริย์แห่งแคว้นสุโขทัย พญางำเมือง กษัตริย์แห่งแคว้นภูกามยาวหรือ(พะเยา) เสด็จมาหารือกันและสร้างเมืองขึ้น โดยวางผังเมืองให้สอดคล้องกับชัยภูมิแลตำรามหาทักษาในคัมภีร์โหราศาสตร์ เมื่อแล้วเสร็จ ทั้งสามพระองค์จึงได้หารือกัน แลเบิกนามเมืองแห่งนี้ว่า “นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่”