พระยาพิชัยดาบหัก
พระยาพิชัย(ดาบหัก) เดิมชื่อ จ้อย บิดามารดาทำไร่ไถนาอยู่บริเวณบ้านห้วยคา หลังเมืองพิชัย ในจังหวัดอุตรดิตถ์ ท่านมีพี่น้องร่วมบิดามารดาอยู่ด้วยกัน ๔ คน แต่เสียชีวิตด้วยโรคไข้ทรพิษเสียทีเดียว ๓ คน นิสัยส่วนตัวนั้นองอาจ กล้าหาญ ชอบการชกมวยเป็นชีวิตจิตใจ เมื่อถึงวัยเรียนบิดาของท่านได้นำไปฝากกับพระครูวัดมหาธาตุ (เมืองพิชัย)จนอ่านออกเขียนได้ แต่ในระหว่างนั้น ท่านก็หมั่นฝึกฝนมวยอยู่เสมอจนมีฝีมือ ต่อมาได้เกิดเหตุทะเลาะวิวาทระหว่างจ้อยกับบุตรท่านเจ้าเมืองพิชัย ถึงขั้นชกต่อยกัน จนพลาดพลั้งต่อยบุตรท่านเจ้าเมืองจนเสียชีวิต ด้วยความกลัว จ้อยจึงหนีออกจากวัดและไม่ยอมกลับไปที่บ้านของตน และเดินทางพเนจรเรื่อยมาจนถึงวัดบ้านเเก่ง จ้อยจึงเปลี่ยนชื่อเป็น ทองดีและเข้ามาฝึกมวยอยู่กับครูเที่ยง จนคล่องแคล่วทุกท่าทาง เมื่อชำนาญดีแล้วจึงเดินทางมาฝึกมวยที่บ้านท่าเสา และที่นี่เองทองดีจึงได้สมญานามว่า “นายทองดีฟันขาว” เนื่องจากไม่กินหมากเหมือนคนในย่านนั้น ต่อมานายทองดีมีโอกาสขึ้นไปนมัสการพระแท่นศิลาอาสน์ และได้ฝากตัวเป็นศิษย์ของครูมวยแห่งบ้านท่าเสา ฝึกมวยและเรียนรู้ท่าทางมวยจีนจากการดูงิ้วผสมผสานกันจนมีฝีมือเลอเลิศ ต่อมาในงานฉลองพระแท่นศิลาอาสน์ นายทองดีมีโอกาสได้ขึ้นเปรียบมวยเพื่อลองวิชาเป็นครั้งแรกกับนักมวยที่มีฝีมือเป็นเยี่ยมและชนะมามากที่สุด แต่ก็ต้องพ่ายแพ้แก่นายทองดี นับจากนั้นเป็นต้นมาก็มิมีนักมวยผู้ใดชนะอีกเลย ต่อมานายทองดีเดินทางออกจากบ้านท่าเสาเพื่อไปเรียนฟันดาบที่เมืองสวรรคโลก และพักอยู่ที่วัดพระปรางค์ ริมแม่น้ำยม ฝึกฝนวิชาดาบกับครูดาบชื่อดังจนเก่งกาจภายในเวลาอันรวดเร็ว หลังจากฝึกฝนวิชาดาบจนเชียวชาญ จึงเดินทางจากสุโขทัย ไปเมืองตาก แต่ในระหว่างทางเกิดเหตุการณ์ให้ต้องฆ่าเสือด้วยมีดเพียงเล่มเดียว ต่อมานายทองดีได้แสดงฝีมือมวยคาดเชือกเป็นที่โจษขานกันไปทั่ว จนกิตติศัพท์ได้ยินไปถึงเจ้าเมืองตาก ท่านจึงชักชวนให้เข้ามารับใช้ใกล้ชิดจนเมื่ออายุครบ 21 ปี ก็จัดการบวชเรียนให้ เมื่อศึกออกมา เจ้าเมืองตากก็ประทานหญิงสาวให้เป็นภรรยา ความสัมพันธ์นี้เป็นไปด้วยความเคารพเทิดทูลดุจเจ้าเมืองตากเป็นบิดาคนที่สอง ต่อมานายทองดีได้ติดตามเจ้าเมืองตากตีฝ่าทหารพม่าออกมาตั้งทัพอยู่ที่วัดพิชัย นอกกรุง หลังจากนั้นไม่กี่เพลากรุงศรีอยุธยาก็เสียกรุงโดยเด็ดขาดแก่พม่าเมื่อวันที่ 7 เม.ย.2310 ต่อมาทัพเจ้าเมืองตากที่มาตั้งมั่นอยู่ที่เมืองจันทบูรได้ยกทัพจากเมืองจันทบูรโดยทางน้ำเข้าทางปากน้ำสมุทรปราการขึ้นไปตีเมืองธนบุรีและโพธิ์สามต้นที่มั่นสุดท้ายของพม่าจนได้ชัยชำนะ เจ้าเมืองตากซึ่งต่อมา ขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงสร้างพระนครที่เมืองธนบุรี เมื่อปลายปี ๒๓๑๐ รวมเวลากว่า ๗ เดือนหลังจากรุงศรีอยุธยาเสียกรุง และทรงทำพระราชพิธีราชาภิเษกในพ.ศ.๒๓๑๑ ต่อมาพระยาพิชัยได้ติดตามรับใช้ใกล้ชิดเข้าร่วมปราบปรามหัวเมืองเหนือในปีพ.ศ.๒๓๑๓ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงโปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้เป็นพระยาศรีหราชเดโช ผู้รั้งเมืองพิชัย หรือเรียกอีกนามหนึ่งคือ ออกญาศรีสุริยะราชาไชย ศักดินา ๕๐๐๐ และต่อมาพระยาพิชัยได้เข้าร่วมรบในเหตุพิพาทระหว่างไทยกับพม่าด้วยกัน 9 ครั้ง คือ ครั้งที่1 รบกับพม่าที่บางกุ้ง พ.ศ.๒๓๑๐ ครั้งที่ 2 พม่าตีสวรรคโลก พ.ศ.๒๓๑๓ ครั้งที่3 ทัพไทยตีเมืองเชียงใหม่ครั้งที่ 1 พ.ศ.๒๓๑๓ ครั้งที่ 4 พม่าตีเมืองพิชัยครั้งที่1 พ.ศ.๒๓๑๕ ครั้งที่ 5 พม่าตีเมืองพิชัยครั้งที่ 2 พ.ศ.๒๕๑๖ และในครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อ โปสุพลาแม่ทัพใหญ่ของพม่านำทัพลงมาตีเมืองพิชัยเอง แต่ท่านพระยาพิชัยรู้ตัวก่อนจึงนัดกับพระยาสุรสีห์ ยกกองทัพไปดักซุ่มรอพม่าอยู่กลางทาง ในขณะที่กำลังสู้รบกันชุลมุน ท่านพระยาพิชัยเหยียบดินลื่นเสียหลักจะล้ม จึงเอาดาบยันดินไว้เพื่อไม่ให้ล้มจนดาบหัก แต่กระนั้นก็ยังเข้าไล่ฟันทหารพม่าเป็นสามารถ สร้างความประทับใจแก่ทหารที่ร่วมรบด้วยกัน จนโจษขานร่ำลือกันไปทั่ว และพร้อมใจกันขนานนามท่าน ว่า "พระยาพิชัย (ดาบหัก)" ซึ่งชื่อเสียงในการรบครั้งนี้เป็นที่โจษจันไปจนถึงพระนครและถูกบันทึกไว้ในพระราชพงศวดาร ถึงความกล้าหาญ ในการสงคราม รักษาหน้าที่ในการรบ แม้ดาบจะหักก็ยังต่อสู้จนทัพพม่าแตกพ่ายกลับไปเมืองเชียงใหม่ นับแต่นั้นท่านจึงได้ชื่อว่า “พระยาพิชัย(ดาบหัก) “ ครั้งที่ 6 ทัพไทยตีเมืองเชียงใหม่ครั้งที่ 2 พ.ศ.๒๓๑๗ ครั้งที่ 7 รบกับพม่าที่บางแก้วเมืองราชบุรี พ.ศ.๒๓๑๗ ครั้งที่ 8 เมื่ออะแซหวุ่นกี้หัวเมืองฝ่ายเหนือ พ.ศ.๒๓๑๘ อะแซหวุ่นกี้นำทัพเข้าตีหัวเมืองฝ่ายเหนือที่เมืองพิชัย รวมถึงเมืองอื่นๆเช่น เมืองพิษณุโลก สวรรคโลก จนเสียหายยับเยิน พระยาพิชัยเข้าร่วมทัพหลวงสู้ศึกพม่าอยู่เป็นเวลานาน แต่ทัพพม่าต้องถอยกลับเนื่องจากการสวรรคตของพระเจ้ามังระ แห่งกรุงอังวะ หลังจากนั้นท่านจึงกลับไปฟื้นฟูเมืองพิชัย รวบรวมคนไทยที่หนีเข้าไปอยู่ตามป่าตามเขาให้กลับมาอยู่ในเมืองพิชัยตามเดิม และครั้งที่ 9 รบกับพม่าที่เมืองอุทัยธานี พ.ศ.๒๓๑๙ หลังจากนั้นพระยาพิชัย(ดาบหัก) คงอยู่รักษาเมืองพิชัย อันเป็นเมืองหน้าด่านที่สำคัญจนถึงสิ้นแผ่นดินสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี