บ้านท่าเสา ที่พระยาพิชัยดาบหัก (จ้อย หรือ ทองดีฟันขาว)
เคยดั้นด้นไปเรียนมวยกับครูเมฆ
สวัสดีครับ สาระน่ารู้จากพี่ใหญ่ (วัชระ ศรีจามร) เมื่อคราวที่แล้ว พาไปเที่ยวสถานที่เกี่ยวข้องกับพระยาพิชัยดาบหัก วันนี้ ก็มีเรื่องเกี่ยวข้องกับละครมาฝากเช่นเคย วันนี้ เราจะย้อนรอยละครไปบ้านครูมวยที่ จ้อย หรือ ทองดีฟันขาว พระเอกที่มุ่งมั่นจะไปเรียนมวยด้วย นั่นก็คือ ครูเมฆ แห่งบ้านท่าเสา เริ่มต้นแต่เมื่อใดยังไม่ทราบแน่ชัด แต่จากลักษณะทางสถาปัตยกรรมของ พระอุโบสถวัดใหญ่ ซึ่งเป็นวัดประจำบ้านท่าเสามาแต่เดิม ประมาณอายุว่าอยู่ในสมัยอยุธยาตอนปลาย และสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ท่าเสาในครั้งนั้น คงจะเป็นตลาดบกที่ชาวเมืองแพร่นำสินค้าเดินบกข้ามเขาพลึงมาพักเตรียมไปขายที่ท่าอิฐ บ้านท่าเสาได้ชื่อมาจากการประกอบอาชีพตัดไม้ล่องซุง ซึ่งเป็นอาชีพที่ประกอบกันมานานตั้งแต่สมัยโบราณ
อีกแห่งหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับบ้านท่าเสา ก็คือหาดท่าอิฐ ซึ่งเป็นตลาดการค้าใหญ่ มีพ่อค้านำสินค้าเดินบกมาจากเมืองเหนือ เช่น แพร่ น่าน เชียงราย ตลอดไปจนถึงสิบสองปันนา ทางทิศตะวันออก ก็มีพ่อค้าจากอำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก หลวงพระบาง ต่างนำสินค้าเดินบกมางหาดท่าอิฐ ส่วนทางใต้ก็จะมีพ่อค้านำสินค้ามาจากภาคกลาง มาขึ้นเรือที่หาดท่าอิฐ ซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าจากต่างแดนกัน เป็นชุมชนที่คับคั่งมากแห่งหนึ่ง เมื่อสร้างเส้นทางรถไฟสายเหนือ เส้นทางรถไฟจะตัดผ่านมาทางบ้านท่าเสา และมีสถานีรถไฟท่าเสาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๒ ชื่ออุตรดิตถ์แปลว่าท่าน้ำทางทิศเหนือ มีความหมายมาจากหาดท่าอิฐนี่เอง
หลังสงครามโลกครั้งที่สอง สภาพตลาดการค้าของท่าเสาก็ซบเซาลงไป เพราะมีถนนสายใหม่ๆ เกิดขึ้น ทำให้การคมนาคมสะดวกขึ้น ความสำคัญของท่าเสาก็ลดลงไปจนหายไปจากความทรงจำในที่สุด
เป็นอย่างไรบ้างครับ คงจะได้ความรู้ในเรื่องบ้านท่าเสากันพอสมควรแล้วนะครับ สำหรับวันนี้ ขอลาไปก่อนนะครับ โชคดีและมีความสุขทุกท่านครับ