สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และเหล่าขุนศึกผู้ตีฝ่าวงล้อมออกมาจากกรุงศรีอโยธยา
สวัสดีครับ สาระน่ารู้จากพี่ใหญ่ (วัชระ ศรีจามร) วันนี้ก็มีเรื่องสถานที่ที่เกี่ยวกับละครมาฝากอีกเช่นเคย เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๐๙ พระยาตาก(สิน) ได้รับพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ให้ลงมาเฝ้า ณ กรุงศรีอโยธยา โปรดให้ดำรงยศเป็นพระยาวชิรปราการ และให้ไปปกครองเมืองกำแพงเพชร ซึ่งเป็นเวลาเดียวกันกับที่พม่ายกกองทัพมาล้อมกรุงศรีอโยธยาไว้แล้ว กองทัพไทยที่ส่งกำลังออกไปสู้รบกับพม่า ก็พ่ายแพ้กลับมาทุกครั้ง จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระยาวชิรปราการช่วยรบ พระยาตาก(สิน) ได้เห็นความแตกแยกและการขาดความสามัคคีของคนไทยในกรุงศรีอโยธยา จึงได้พิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว เห็นว่า กรุงศรีอโยธยาคงจะต้องเสียแก่พม่าอย่างแน่แท้ หากสู้รบต่อไปคงจะต้องตาย หรือไม่ก็ตกเป็นเชลย จึงคิดหาทำเลที่ตั้งทัพเพื่อเตรียมกอบกู้อิสระภาพ ดังนั้น ในวันเสาร์ ขึ้น ๔ ค่ำ เดือนยี่ ปีจอ อัฐศก (ปีศักราชที่ลงท้ายด้วย ๘ เรียกอัฐศก) จุลศักราช ๑๑๒๘ ซึ่งตรงกับวันที่ ๓ มกราคม พ.ศ. ๒๓๐๙ พระยาตาก(สิน) พร้อมทหารเอก ๔ นาย คือ หลวงพิชัยอาษา (พระยาพิชัยดาบหักในเวลาต่อมา) หลวงพรมเสนา ขุนอภัยภักดี และหมื่นราชเสน่หา พร้อมด้วยทหารสมัครใจ ๕๐๐ คน ได้ตีฝ่าวงล้อมของพม่า ในเวลากลางคืน มุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออก ทั้งทหารและม้า ว่ายน้ำข้ามแม่น้ำป่าสัก ขึ้นฝั่งที่วัดพิชัย (ใกล้สะพานปรีดีธำรงค์) และควบม้าเลียบคลองบ้านกระมัง พระยาตาก(สิน) ได้สู้พลางถอยพลางเรื่อยมา ชาวบ้านตามรายทางได้ให้ความช่วยเหลือสนับสนุนด้านเสบียงอาหารและอาวุธ ฯลฯ หมู่บ้านหนึ่ง มีผู้หญิงชื่อ โพ เป็นหัวหน้านำชาวบ้าน พร้อมกันสู้รบกับพม่า จนต้องเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก และอีกหมู่บ้านหนึ่ง มีพรานคนหนึ่ง มีอาชีพล่าสัตว์เป็นอาหาร เห็นกองทัพพระยาตาก(สิน) ยกมา จึงให้การต้อนรับ จัดที่พักค้างแรม จัดอาหารเลี้ยง โดยนายพราน เป็นผู้ล่าสัตว์มาเป็นอาหารและเสบียงอาหารให้แก่กำลังพลของพระยาตาก(สิน) เมื่อทัพพม่าได้ยกทัพไล่ตามมาจนถึงหมู่บ้านอีกแห่งหนึ่ง มีคลองแยกเป็นสามง่าม ขณะนั้น ใกล้รุ่งอรุณ ตรงกับวันอาทิตย์ ขึ้น ๕ ค่ำ เดือนยี่ ปีจอ อัฐศก จุลศักราช ๑๑๒๘ ซึ่งตรงกับวันที่ ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๓๐๙ พม่ายกกำลังติดตามมาอีก พระยาตาก(สิน) พร้อมด้วยกำลังพล จึงได้ตัดสินใจขึ้นม้า ออกต่อสู้จู่โจมอย่างฉับพลัน จนได้ชัยชนะ สังหารทหารพม่าตายหมดสิ้น จากนั้น ก็ได้เคลื่อนกำลังต่อไป มุ่งหน้าผ่านเมืองนครนายก ฉะเชิงเทรา มุ่งสู่จันทบุรี เพื่อผนึกกำลังกอบกู้เอกราชกลับคืนมา กองทัพพม่าหลังจากพ่ายแพ้แก่พระยาตาก(สิน) แล้ว ก็เลิกทัพกลับกรุงศรีอโยธยาไปตั้งกำลังทัพรักษา กรุงศรีอโยธยาที่ค่ายอำเภอบางปะหัน ภายหลังการสถาปนากรุงศรีอโยธยาแล้ว พระยาตาก(สิน) ก็ได้กลับมายังหมู่บ้านที่เคยนำกองทัพผ่านหมู่บ้านที่ทำอาวุธให้ ชื่อว่า "หมู่บ้านธนู" หมู่บ้านที่ให้เสบียงอาหาร ชื่อว่า "บ้านข้าวเม่า" หมู่บ้านที่นางโพและนายพรานกับพวกร่วมใจกันสู้รบพม่า ให้ชื่อว่า "บ้านโพสาวหาญ" "บ้านพรานนก" และบริเวณที่นำทัพมาถึงตอนสว่างพอดี ให้ชื่อว่า "อุทัย" หมายความว่า "แสงอาทิตย์ยามอรุณรุ่ง" ซึ่งก็คือ บริเวณตำบลอุทัย ในปัจจุบันนี้ แลคลองแยกเป็นสามง่าม จุดที่พระยาตาก(สิน) สู้รบกับพม่าจนเป็นฝ่ายได้ชัยชนะ ก็ให้ชื่อคลองนั้นว่า "คลองชนะ"