สาระน่ารู้จากพี่ใหญ่ในวันนี้ ขอนำเรื่องพระแสงปืนข้ามแม่น้ำสะโตงมาเสนอ เมื่อครั้งกรุงศรีอโยธยาได้รับหมายรับสั่งให้ยกทัพมาช่วยหงสาวดีไปตีเมืองอังวะ แต่ด้วยจิตคิดร้ายของพระเจ้านันทบุเรง ระหว่างการเดินทัพสู่หงสาวดี วันที่ ๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๑๒๗ สมเด็จพระนเรศวรฯเดินทัพมาถึงเมืองแครง ด้วยบุญญาธิการ ของสมเด็จพระนเรศวร ทรงปฏิบัติตนเป็นที่เคารพรักของชาวมอญ เมื่อครั้งได้เสด็จไปมาระหว่างเมืองไทยกับพม่าอยู่เสมอนั้น ทรงหยุดพักที่เมืองแครงอยู่เสมอจึงมีพรรคพวกคนมอญมาก แม้กระทั่งพระมหาเถรคันฉ่องก็ได้นมัสการท่านอยู่ประจำจนชอบพอคุ้นเคย และเมื่อบังเอิญเกิดความวุ่นวายทางเมืองพม่า พวกมอญที่เกลียดพม่าอยู่แล้วรวมทั้งพระยาเกียรติ พระยาราม ก็มีความประสงค์ที่จะให้มอญเป็นอิสระจากพม่าด้วย จึงจำเป็นต้องพึ่งพากองทัพไทย เทพยดาฟ้าดินจึงดลใจให้สมเด็จพระนเรศวรฯรอดชีวิตจากการปองร้ายของพระยามอญทั้งสองซึ่งเปิดเผย ความจริงให้มหาเถรคันฉ่องทราบ สมเด็จพระนเรศวรฯได้พักทัพ ตั้งพลับพลาอยู่ใกล้วัดพระมหาเถรคันฉ่อง เมื่อเสด็จไปนมัสการมหาเถรคันฉ่อง จึงได้ทรงทราบว่าพระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงคิดกำจัดพระองค์ จึงรับสั่งให้ประชุมแม่ทัพนายกองรวมทั้งพระยาเกียรติ พระยารามและชาวมอญทั้งหลายในเมืองแครงด้วย และเข้าใจกันว่าโปรดให้พระมหาเถรคันฉ่องมานั่งเป็นประธานในพิธีด้วย สมเด็จพระนเรศวรฯทรงหลั่งน้ำจากสุวรรณภิงคารลงเหนือแผ่นดิน ประกาศแก่ เทพยดาต่อหน้าที่ประชุมว่า \" ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปกรุงศรีอโยธยาขาดพระราชไมตรีกับกรุงหงสาวดี มิได้เป็นมิตรกันดังแต่ก่อนสืบไป \" ในปีที่ทรงประกาศอิสรภาพ สมเด็จพระนเรศวรฯ ทรงมีพระชนมายุได้ ๒๙ พรรษา หลังจากประกาศอิสรภาพแล้ว จากนั้นจึงยกกองทัพหลวงจากเมืองแครงไปตีเมืองหงสาวดี เมื่อข้ามแม่น้ำสะโตงไปจนใกล้ถึงเมืองหงสาวดี ทรงทราบว่าพระเจ้าหงสาวดีชนช้างรบชนะพระเจ้าอังวะ และกำลังยกกองทัพกลับคืนเมืองหงสาวดี สมเด็จพระนเรศวรฯ พิจารณาความได้เปรียบเสียเปรียบ แล้วจึงระงับการเข้าตีเมืองหงสาวดีไว้ก่อน ให้ทหารแยกย้ายกันช่วยบอกครอบครัวคนไทยที่พม่ากวาดต้อนมาแต่ก่อน ให้อพยพกลับเมืองไทยได้หมื่นเศษ พร้อมกับครอบครัวมอญอีกจำนวนหนึ่ง กำลังทั้งหมดเดินทางข้ามแม่น้ำสะโตง โดยกำลังของสมเด็จพระนเรศวรฯ ข้ามเป็นส่วนสุดท้าย พระมหาอุปราชาทรงทราบว่า สมเด็จพระนเรศวรฯกวาดต้อนครอบครัวไทยมอญถอยกลับมา จึงจัดกองทัพให้สุรกรรมมาเป็นทัพหน้า ติดตามกองทัพสมเด็จพระนเรศวรฯมาทันถึงฝั่งแม่น้ำสะโตง ตรงข้ามกันกับทัพสมเด็จพระนเรศวรฯ ซึ่งนำทหารข้ามน้ำมาหมดแล้ว แม่น้ำสะโตงช่วงนี้กว้างมาก มีบันทึกว่ากว้าง ๔๐๐ เมตร กระสุนปืนที่ทหารไทยกับทหารพม่ายิงใส่กันนั้นไม่ถึงฝั่งทั้งสอง ฝ่าย สมเด็จพระนเรศวรฯทรงยิงพระแสงปืนนกสับกระบอกหนึ่งยาว ๙ คืบ (๒.๓๐ เมตร) ถูกสุรกรรมานายทัพของพม่าตายอยู่บนคอช้าง พวกรี้พลเห็นเช่นนั้นก็พากันครั่นคร้าม พระมหาอุปราชานำทัพตามหลังมาเห็นว่าจะติดตามสมเด็จพระนเศวรฯไปก็คงไม่ทันเป็นแน่แท้ จึงเลิกทัพกลับเมืองหงสาวดี พระแสงปืนซึ่งทรงยิงถูกสุรกรรมมาตายนี้ สมเด็จพระนเรศวรทรงพระราชทานนามพระแสงปืนนั้นว่า \"พระแสงปืนต้นข้ามแม่น้ำสะโตง\" ในปี พ.ศ. ๒๑๓๓ มีนามเรียกต่อ ๆ มาว่า \"พระแสงปืนข้ามแม่น้ำสะโตง\" นับเป็นพระแสงอัษฎาวุธอันเป็นเครื่องราชูปโภคสำหรับแผ่นดิน ซึ่งเก็บอยู่ในพระบรมมหาราชวังตราบจนทุกวันนี้ สาระน่ารู้จากพี่ใหญ่วันนี้ขอลาไปก่อน โชคดีและมีความสุขครับ