
สาระกับพี่ใหญ่ประจำวันที่ 19 ก.ค.2549 ขอนำเสนอเรื่องจตุลังคบาทครับ ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๒๕ ระบุว่าคือ เสนาประจำ ๔ เท้าช้างในเวลาสงคราม ดังที่มีการระบุไว้ในลิลิตตะเลงพ่ายเรียกว่า จตุลังคบาทบริรักษ์ซึ่งจตุลังคบาท มีหน้าที่สำคัญในการรักษาคุ้มครองเท้าช้างทั้ง ๔ เท้า ของช้างทรงของพระเจ้าแผ่นดิน หรือพระบรมวงศานุวงศ์ ตลอดจนแม่ทัพ มิให้ต้องอันตรายจากคมอาวุธของข้าศึก ซึ่งจุดอ่อนของช้างก็คือขาและงวง จุดอ่อนของช้างนี้ถ้าจะเปรียบว่าช้างศึกเหมือนรถถัง ขาช้างก็คือสายพานตีนตะขาบ หากข้าศึกใช้ทหารรุกเข้าประชิดรถถังจนสามารถหย่อนลูกระเบิดลงฝารถถังได้สักลูกหรือวางกับระเบิด หรือยิงอาวุธทำลายสายพานรถถังได้รถถังก็ไม่เคลื่อนที่ กรณีแรกรถถังทำการรบต่อไม่ได้เพราะคนบังคับรถมีอันเป็นไป กรณีที่สองรถถังเคลื่อนที่ต่อไม่ได้กลายเป็นเป้านิ่งรถถังจึงต้องมีหน่วยทหารราบคุ้มกัน นอกจากขาทั้งสี่แล้วจุดอ่อนของช้างที่สำคัญที่สุดคือ งวง ถ้าหากโดนฟันโดนแทงเข้าเป็นเรื่องแน่ๆ เบาะๆก็คงสลัดคนบนหลังลงมานอนเล่นข้างล่าง เพราะงวงเป็นอวัยวะที่ละเอียดอ่อนและสำคัญกับช้างมาก ทำไมในการศึกยุทธหัตถีซึ่งก็ปรากฏในละคร”มหาราชนเรศวร วีรกษัตริย์แห่งอโยธยา” จึงมีเพียงสมเด็จพระองค์ดำและสมเด็จพระองค์ขาวลำพังเพียงสองพระองค์กับหมู่จตุลังคบาทโดยเสด็จทันพระราชการสงครามเท่านั้น ที่จริงแล้วน่าจะเพิ่มจำนวนทหารตามเสด็จอีกสัก ๕ - ๖ นายครับ กล่าวคือ ในการใช้ช้างศึก ๑ ช้าง นอกจากตัวขุนศึกประจำคอช้างแล้ว บนหลังช้างแต่ละเชือกจะบรรทุกทหารอีก ๒ นาย คือ กลางช้าง ๑ (คอยส่งอาวุธให้และให้อาณัติสัญญาณพลรบ)แลควาญท้ายอีก ๑ (ไสท้ายบังคับช้างมักเป็นควาญที่ดูแลช้างประจำ) รวมช้างศึก ๑ เชือก บรรทุกทหาร ๓ นาย ส่วนหมู่ทหารภาคพื้นดินประจำตำแหน่งจตุลังคบาท คุ้มกันช้างนั้นบางตำราท่านว่า มีรวม ๕ นาย ครับ ไม่ใช่แค่ ๔ แต่บางท่านอาจเข้าใจว่ามี ๔ นายเพราะมักใช้รหัสเรียกขานว่า จตุลังคบาท ที่เพิ่มมาอีก ๑ นั้น ท่านว่าคือพลนำหน้าช้างครับ มีหน้าที่สำคัญที่สุดในหน่วยทหารราบหมู่นี้คือระวังรักษางวงช้าง กรณีพลประจำช้าง โดยสรุปหมู่ทหารสำหรับช้างศึก ๑ เชือก มี ๗ นาย ครับ ส่วนกรณีที่ว่าทำไมจึงมีเพียงทหารประจำช้างเท่านั้น ที่ติดตามทั้งสองพระองค์บุกเข้าไปจนถึงกลางทัพพระมหาอุปราชามังสามเกียดแห่งหงสาวดี ทั้งที่ช้างตกมันวิ่งเร็วกว่าคนไม่ว่านักรบท่านนั้นจะฝึกมาดีถ้าวิ่งในสนามรบไม่สามารถวิ่งตามช้างได้ทัน แล้วถ้าจตุลังคบาทวิ่งตามช้างทรงทันได้อย่างไร ที่ตามทันเนื่องจากจตุลังคบาทท่านโหนเชือกที่ยึดโยงจุดต่างๆของช้างไปด้วย มีนักวิชการด้านคชศาสน์เคยพบชิ้นส่วนคล้ายโกลนม้าแต่ใหญ่กว่าให้ทหารใช้เท้าเหยียบตอนโหนเกาะช้างไปสมัยอยุธยาครับ ถ้าสมัยสุโขไทยจะมีเชือกคาดลงมาอีกขั้นหนึ่ง พอมองเห็นว่ากำลังโหนอยู่ครับมักจะเป็นผู้มีฝีมือด้านการรบกล้าแข็งประเภทยอดฝีมือในเชิงการสู้รบทุกรูปแบบทั้งสองมือ โดยเฉพาะการใช้ดาบสองมือ ดาบเขน ทวน หมัดมวย เพราะระหว่างเกาะเท้าช้างหรือเครื่องผู้รัดของช้าง มือหนึ่งก็ต้องยึดเครื่องผู้รัดอีกมือหนึ่งก็ต้องใช้อาวุธของตนกวัดแกว่งอาวุธในมือเพื่อป้องกันภัยให้กับช้างที่ตนมีหน้าที่อารักขารักษาไปด้วย และในพระราชพงศาวดารบางฉบับถึงกับระบุถึงชั้นยศของจตุลังคบาทที่ทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยให้กับช้างทรงของพระมหากษัตริย์ดังนี้ ๒ เท้าหน้าท่านอวยยศเป็นออกหลวง ๒ เท้าหลังมียศเป็นออกขุนครับ
สำหรับสาระน่ารู้จากพี่ใหญ่ในวันนี้ก็ขอจบเพียงเท่านี้ สำหรับวันนี้โชคดีและมีความสุขครับ