ทีมงานรังสิมันต์ขออำลาอาลัย คุณลุงสุวัฒน์ วรดิลก ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปี 2534 เจ้าของนามปากกา “ส.วรดิลก” “ไพร วิษณุ”และ “รพีพร”
อาลัย "รพีพร"
จำได้ว่า เมื่อราวปี พ.ศ. 2505 คุณสุวัฒน์และภรรยา (เพ็ญศรี พุ่มชูศรี,พี่โจ๊ว) ยังพักอยู่ที่บ้านพักที่นางเลิ้ง ตอนนั้นรังสิมันต์เราพึ่งจะได้เริ่มก่อตั้งกันใหม่ๆ หลังจากที่ทำห้องอัดเสียงยีซีม่อนกันมาหลายปี เราเปลี่ยนนักเขียนกันมาหลายคน จนกระทั่งได้คุณสุวัฒน์มาเป็นนักเขียนประจำให้ คุณสุวัฒน์เป็นนักเขียนคนแรก และคนเดียวของรังสิมันต์ ที่ได้สร้างสรรค์ทั้งบทประพันธ์และบทละครให้กับศิลปินนักแสดงละครวิทยุที่มีฝีมืออีกหลายท่าน ไม่ว่าจะเป็น คุณสวลี ผกาพันธ์, คุณอาคม มกรานนท์, คุณทัต เอกทัต, คุณฉลอง สิมะเสถียร, คุณสุลาลีวัลย์ สุวรรณทัต(ป้าทอง), คุณศิริพงศ์ อิสรางกูล ณ อยุธยา, คุณรัชนี จันทรังสี, คุณสมควร กระจ่างศาสตร์,คุณกิ่งดาว ดารณี, คุณอดุลย์ ดุลยรัตน์, คุณมาลี ผกาพันธ์, คุณกันทรีย์ นาคประภา, คุณเมตตา รุ่งรัตน์, คุณอรสา อิสรางกูล ณ อยุธยา, คุณอัจฉราวดี เถาเสถียร, คุณกนกวรรณ ด่านอุดม, คุณกรองจิตต์ เตมีศิลปิน, คุณสาหัส บุญหลง, คุณมนัส บุญเกียรติ, คุณสุทธิจิตร วีรเดชกำแหง, คุณอำรุง เกาไศยนันท์,คุณอุทัย โพธิสุนทร, คุณสุพรรณ บูรณพิมพ์, คุณรำเพย อนัคฆมนตรี ฯลฯ ที่ได้สลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาร่วมรังสรรค์ผลงานละครวิทยุ จนทำให้รังสิมันต์ได้มีชื่อเสียงโดดเด่นอยู่ในขณะนั้น คุณสุวัฒน์ จึงถือได้ว่าเป็นผู้ที่มีคุณูปการแก่รังสิมันต์เราท่านหนึ่ง ที่หากจะเปรียบกับเรือ ก็เปรียบได้กับหางเสือที่คอยชักใยเขียนบทให้นักแสดงได้แสดงกันอยู่เบื้องหลัง อีกทั้งยังเป็นผู้ที่คิดนามแฝง "จตุรัส" ให้แก่ "สี่เสี่ย" อีกด้วย บทประพันธ์และบทละครเรื่องบ้านสาวโสดของคุณสุวัฒน์ ไม่เพียงแต่จะทำให้แฟนละครติดอกติดใจกันทั่วบ้านทั่วเมืองเท่านั้น แม้แต่ผู้แสดง ก็ยังสนุกสนานไปกับบทละครของคุณสุวัฒน์ จนมิอาจจะลืมเลือนไปได้ แม้เวลาจะผ่านไปกว่าสี่สิบปีแล้วก็ตาม
ต่อมา เมื่อคุณสุวัฒน์เริ่มมีงานเขียนทั้งนวนิยาย บทภาพยนตร์ บทละครมากขึ้น จึงทำให้เวลาในการทำงานแต่ละชิ้นงานน้อยลง มีคนในวงการหลายคนไปคอยแวะเวียนจับจองที่นั่งรอบทอยู่ที่บ้านคุณสุวัฒน์ที่นางเลิ้งอย่างไม่ขาดสาย คุณสุวัฒน์ก็ใจเย็น ทำกับข้าวที่เอร็ดอร่อยให้กินกันอยู่เรื่อย ดิฉันก็เป็นผู้หนึ่ง ที่ต้องไปรอรับบทละครวิทยุของคุณสุวัฒน์ที่บ้านที่นางเลิ้งเหมือนกัน จำได้ว่า แม้กระทั่งดิฉันอุ้มท้องลูกสาวคนโตเมื่อต้นปี พ.ศ. 2508 ก็ยังไปรับบทที่นั่น แต่คุณสุวัฒน์ก็ยังใจเย็น เขียนบทละครให้ทันเวลาบันทึกเสียง โดยที่ฝีมือการเขียนของคุณสุวัฒน์ ไม่ได้ตกลงกับงานที่ล้นหลามเข้ามาแม้แต่น้อย พิสูจน์ได้จากในตอนนั้น คุณสุวัฒน์ประพันธ์นวนิยายเรื่อง "ลูกนก" ให้ เพื่อเป็นละครวิทยุของรังสิมันต์โดยเฉพาะ โดยไม่ได้ตีพิมพ์เป็นหนังสือหรือนำเอาไปทำเป็นภาพยนตร์เหมือนกับนวนิยายเรื่องอื่นๆ แต่อย่างใด แต่ละครวิทยุเรื่องนั้น ก็ทำให้รังสิมันต์เราโด่งดังจนบริษัท รีเวอร์ฯ ได้ออกสำรวจ และพบว่า ละครของเราในตอนนั้น มาเป็นอันดับหนึ่ง เหตุการณ์ดูเหมือนกับว่าพึ่งจะผ่านมาเมื่อวานนี้เอง
กาลเวลาล่วงเลยมา จนรังสิมันต์ได้ปิดตัวลง ดิฉันและสามีก็ยังได้ติดต่อกับคุณสุวัฒน์และพี่โจ๊ว (เพ็ญศรี พุ่มชูศรี) อยู่บ้าง ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ใกล้ชิดกันเหมือนเมื่อครั้งที่ละครวิทยุรังสิมันต์ออกอากาศอยู่และห้องอัดเสียงยีซีม่อนก็ยังเปิดดำเนินการอยู่ ระยะหลังจากที่ "สี่เสี่ย" สามีของดิชั้นได้จากไป ก็ได้ทราบว่าคุณสุวัฒน์และพี่โจ๊วย้ายไปอยู่ที่ศรีราชา ดิฉันเคยพาลูกสาวคนโต(ที่เคยอุ้มท้องไปรับบทที่นางเลิ้ง) ไปเยี่ยมเยียนทั้งคุณสุวัฒน์และพี่โจ๊ ยังดีใจที่ได้เห็นทั้งคุณสุวัฒน์และพี่โจ๊วยังมีความสุขดี ถึงแม้ว่าจะมีปัญหาด้านสุขภาพอยู่บ้างตามกาลเวลา แต่...ก็ไม่คิดเลย ว่าพอผ่านสงกรานต์มา ก็ได้ข่าวว่า คุณสุวัฒน์ ผู้ที่ดิฉันเคารพและนับถือได้จากไปแล้ว คงจะไม่มีคำไว้อาลัยใดที่จะกล่าวอาลัยแด่ผู้ที่เป็นคนดีอย่างแท้จริง โดยที่มิเคยมีสิ่งอื่นสิ่งใดแอบแฝงต่อผู้อื่น ที่หลงเหลืออยู่ในปัจจุบันนี้เพียงมิกี่คนอย่างคุณสุวัฒน์อีก นอกเสียจากจะรู้สึกทั้งเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อพี่โจ๊ว ภรรยาผู้แสนดีที่เป็นคู่ทุกข์คู่ยากร่วมทุกข์ร่วมสุขกับคุณสุวัฒน์มาตลอด และเสียดายที่คนดีและคนมีฝีมืออย่างคุณสุวัฒน์ ต้องจากพวกเราไปอย่างมิมีวันกลับ
คำไว้อาลัยของพี่โจ๊ว ที่เคยเขียนเอาไว้ ว่าเส้นทางการเดินสู่เขตสวรรค์ของ "สี่เสี่ย" (สามีของดิฉัน) คงจะต้องกระหึ่มไปด้วยเสียงดนตรี ดิฉันก็เชื่อเหมือนกัน ว่าเส้นทางการเดินสู่เขตสวรรค์ของคุณสุวัฒน์ ก็คงจะต้องกระหึ่มไปด้วยเสียงดนตรีที่ขับกล่อมไปด้วยบทกวีอันไพเราะเหมือนกัน
ขอให้ดวงวิญญาณของคุณสุวัฒน์ จงไปสู่สุขคติในสัมปรายภพด้วยเทอญ...
(ประวัติของคุณสุวัฒน์ที่ดิฉันพอจะรู้ คุณสุวัฒน์ได้เคยเขียนเอาไว้ในหนังสือไว้อาลัยของสี่เสี่ย ดิฉันไม่กล้าที่จะถือวิสาสะตัดเอาข้อความอันมีค่าตอนหนึ่งตอนใดออก จึงขอนำเอามาลงเอาไว้เพื่อให้ระลึกถึงกัน ณ ที่นี้)
บุบผา จิรา
20 เมษายน 2550
"แด่ เพื่อนแท้ของเราอีกคน"
สุวัฒน์ วรดิลก
ราว พ.ศ. 2498 หลังจากละครเวทีลาโรงเฉลิมไทยไปแล้ว 3 ปี และอีก 2 ปีของโรงละครศรีอยุธยา ผู้เขียนเข้ารับงานสถานีวิทยุทหารอากาศ ซึ่งใช้สถานที่ของโรงถ่ายภาพยนตร์หรือกองภาพยนตร์ทหารอากาศทุ่งมหาเมฆ ซึ่งปิดตายมาตั้งแต่สงครามมหาเอเชียบูรพายุติลง เมื่อพ.ศ. 2488 โดยการสนับสนุนของ น.อ. สวัสดิ์ ทิฆัมพร ผู้ต่อมารับตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานี ผู้เขียนได้รับตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายจัดรายการวิทยุทหารอากาศ พร้อมด้วยทีมงานทั้งฝ่ายทหาร, พลเรือน และศิลปิน ผู้เคยร่วมงานกับคณะละคร "ศิวารมณ์" เนื่องด้วยทางกองทัพอากาศไม่มีงบประมาณสำหรับงานนี้ ฝ่ายผู้จัดทำจึงดำเนินการด้วยวิธีขอเครดิตเครื่องส่งจาก บริษัท ยีซีมอนฯ โดยทำสัญญาผ่อนใช้เงินค่าเครื่องส่ง 500 วัตต์ จำนวน 400,000 บาท และอุปกรณ์วิทยุทั้งหมด กำหนดใช้หมดภายใน 3 ปี
ผู้แทนบริษัทเครื่องส่งวิทยุแห่งนี้ คือ คุณวีระ จิรา ซึ่งตอนนี้ เราเรียกท่านว่า "สี่เสี่ย" วิทยุทหารอากาศดำเนินการทั้งภาคภาษาไทยและจีนได้เพียงปีเศษ เงินที่กำหนดใช้ภายใน 4 ปี ปรากฎว่าใช้ได้หมดในเวลาดังกล่าว คุณวีระ หรือสี่เสี่ยให้ความเชื่อถือคณะดำเนินงานของเรามาก จึงยกเครื่องส่งกำลังสูง (สำหรับยุคนั้น) คือ 1 กิโลวัตต์มาแทนเครื่องส่งเครื่องแรก ทำให้สถานีวิทยุทหารอากาศมีความหมายและความสำคัญขึ้นมาเสมอด้วยวิทยุ ท.ท.ท. ซึ่งมีชื่อเสียงมากในยุคนั้นเสียดายที่ผู้เขียนทำงานให้สถานีวิทยุทหารอากาศได้เพียง 2 ปีเศษ ก็ต้องลาออก เนื่องด้วยได้รับเชิญจากกรมวิเทศสัมพันธ์ ประเทศจีน(แดง) ให้จัดศิลปินไปแสดงเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทย ในวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2500 สถานีวิทยุทหารอากาศเป็นหน่วยราชการ ผู้เขียนเกรงจะเกิดคำครหา ทำให้ผู้ใหญ่ในวงราชการทหารอากาศต้องกระทบกระเทือน เพราะในช่วงนั้น รัฐบาลมีนโยบายแอนตี้จีนแดงอย่างหัวชนฝา ห้ามมิให้คนไทยติดต่อกับประเทศสังคมนิยมแห่งนั้นอย่างเด็ดขาด ผู้ใดฝ่าฝืนจะถูกลงโทษด้วยพระราชบัญญัติคอมมิวนิสต์ (พ.ศ. 2495) เมื่อผู้เขียนตัดสินใจรับเชิญรัฐบาลจีน ก็สมควรอย่างยิ่งที่จะต้องลาออกจากงานด้านวิทยุทหารอากาศ
แต่ไมตรีจิตมิตรภาพระหว่างผู้เขียนกับ "สี่เสี่ย" หรือคุณวีระ จิรา ยังคงสภาพเดิม มิได้เปลี่ยนแปลง หลังจากวิกฤตหรือมรสุมชีวิตจากทางการเมืองที่กระทบกับชีวิตผู้เขียนและภรรยา มีผลให้ต้องจากสังคมไปอยู่ในคุกการเมืองลาดยาวถึง 4 ปี คุณวีระ หรือ สี่เสี่ย ก็ยังไม่ลืมผู้เขียน โดยเฉพาะเมื่อได้รับอิสรภาพในต้นปี 2505 คุณบุบผา จิรา ผู้ภรรยา ได้ทำหน้าที่แทนคุณวีระผู้สามี ในงานด้านละครวิทยุ จากห้องบันทึกเสียงของตัวเอง ผู้เขียนจึงเริ่มสัมพันธภาพกับสามีภรรยาผู้น่ารักคู่นี้ต่อไปอีก ด้วยการรับเขียนบทละครวิทยุ (รายวันๆ ละ ครึ่งชั่วโมงซึ่งฮิตมากในยุคนั้น) เราสนิทสนมกันเหมือนเดิม และมีสัมพันธ์ภาพต่อกันอย่างแน่นแฟ้น เพราะโดยปกติวิสัยของมนุษย์เรา ผูกพันทางด้านจิตใจอย่างเดียว ยังไม่เพียงพอ หากได้ร่วมงานกันด้วยแล้ว ความสัมพันธ์นั้น ก็จะเพิ่มความมั่นคงมากขึ้น ดังจะเห็นได้ว่า ระหว่างผู้เขียนกับ "สี่เสี่ย" หรือคุณวีระ กับคุณคุณบุบผา ยังคงเป็นมิตรกันอยู่
แม้กาลเวลาจะผ่านไปแล้วถึง 35 ปีมรณกรรมของญาติสนิทมิตรแท้ ยังผลกระทบความรู้สึกนึกคิดและจิตใจคนเราอย่างไรเพียงไหนนั้น บัดนี้ผลกระทบนั้นได้ปรากฎขึ้นในความรู้สึกนึกคิดและจิตใจของผู้เขียน จึงใคร่ขอแสดงความรัก, อาลัย "สี่เสี่ย" หรือคุณวีระ จิรา ไว้ด้วยข้อเขียนทั้งหมดนี้ และขอให้ดวงวิญญาณของเพื่อนที่ดีผู้นี้ของผู้เขียน โปรดรับทราบด้วยว่า มีภาระกิจใดๆ ก็ตาม หากเป็นความต้องการของคุณบุบผา จิรา ให้ผู้เขียนได้ช่วยเหลือแล้ว ผู้เขียนจะไม่ปฏิเสธหรือบิดพริ้วเป็นอันขาด ขอเพียงให้ดวงวิญญาณของ "สี่เสี่ย" หรือคุณวีระ เพื่อนรัก จงไปสู่สุคติภพโดยเร็วพลันเทอญ
สุวัฒน์ วรดิลก
28 ตุลาคม 2533