สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น คือ ตั้งแต่สมัยพระเจ้าอู่ทองจนสิ้นสมัยของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เป็นช่วงที่รับอิทธิพลมาจากขอม จึงนิยมสร้างพระปรางค์เป็นประธานของวัด เช่น วัดพระราม วัดราชบูรณะ โบสถ์นิยมสร้างแบบทึบๆ ไม่มีช่องหน้าต่าง คงเจาะเพียงซี่ลูกกรงที่ผนังตอนบน และวิหารมีความสำคัญมากกว่าโบสถ์ จึงนิยมสร้างให้มีขนาดใหญ่โต
สมัยอยุธยาตอนกลาง ตั้งแต่สมัยสมเด็จระรามาธิบดีที่ ๒ ลงมา นิยมสร้างเจดีย์ทรงกลมหรือทรงระฆังคว่ำแบบลังกาตามอิทธิพลสุโขทัยเป็นประธานของวัด ขณะเดียวกันเจดีย์เพิ่มมุม-ย่อมุม ซึ่งเกิดจากการผสมผสานระหว่างปรางค์กับเจดีย์ทรงกลมหรือทรงระฆังคว่ำก็เริ่มมีวิวัฒนาการอยู่ในยุคนี้ เช่น พระเจดีย์วัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ พระเจดีย์ภูเขาทอง และพระเจดีย์ศรีสุริโยทัย
สมัยอยุธยาตอนปลาย ตั้งแต่สมัยพระเจ้าปราสาททอง เป็นต้นไป เจดีย์ย่อมุมต่างๆ มีวิวัฒนาการถึงที่สุด อุโบสถเริ่มมีความสำคัญและมีขนาดใหญ่กว่าวิหาร มักทำฐานและหลังคาแอ่นโค้ง ใช้เสากลมก่ออิฐหัวเสาเป็นรูปบัวตูม หลังคาซ้อนกันเป็นชั้นๆ ลวดลายหน้าบันงดงาม เริ่มมีศิลปะแบบตะวันตกปรากฏให้เห็นบ้าง โดยเฉพาะอาคารสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
บ้านเรือนราษฎรสันนิษฐานว่าคงสร้างด้วยไม้ยกพื้น ใต้ถุนสูง ฝาแบบฝาปะกน หน้าต่างแคบเล็ก หลังคาทรงจั่วอาจมุงด้วยกระเบื้อง แฝก จาก หรือไม้ประดับปั้นลมที่จั่วหลังคา มีชานติดต่อกับห้องครัว จำนวนคูหา หอนั่ง ขึ้นอยู่กับฐานะของเจ้าของบ้าน และยังเป็นที่นิยมสืบมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์