วัดพระราม
วัดพระรามแม้จะเป็นวัดร้างเหลือเพียงซาก แต่วัดแห่งนี้กลับมีทัศนียภาพที่สวยงามและให้ความร่มรื่นต่อผู้ที่มาเยี่ยมชมและสัญจรผ่านไปผ่านมาอีกด้วย
วัดพระรามมีประวัติตามพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐกล่าวว่า ในปีพุทธศักราช 1912 สมเด็จพระราเมศวรทรงสร้างวัดแห่งนี้ตรงบริเวณที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระเจ้าอู่ทอง(พระราชบิดาของพระองค์) แต่ในระยะนี้เข้าใจว่าคงสร้างไม่เสร็จ เพราะพระองค์ครองราชย์อยู่เพียงปีเดียว ซึ่งอาจจะสร้างเพิ่มเติมในรัชสมัยของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 (ขุนหลวงพะงั่ว) จนแล้วเสร็จ หรือ อาจจะสร้างเสร็จในสมัยสมเด็จพระราเมศวรครองราชย์ครั้งที่ 2 ก็เป็นได้ ซึ่งบางพงศาวดารเรียกวัดแห่งนี้ว่า วัดรามาวาส โดยมีสิ่งที่น่าสนใจดังนี้
บึงพระราม หรือ หนองโสน บึงชีขัน เกิดขึ้นโดยการขุดดินไปถมที่เพื่อสร้างวัดพระศรีสรรเพชญ์ พระราชวังหลวง วัดมหาธาตุ วัดราชบูรณะ และวัดพระราม เป็นบึงน้ำขนาดใหญ่ มีต้นไม้ปกคลุมร่มรื่น หากผ่านไปจะเห็นยอดเจดีย์และปรางค์ที่ปรักหักพังในบริเวณนั้นโผล่ออกมาตามสุมทุมพุ่มไม้ ช่วยสร้างบรรยากาศการท่องเที่ยวในนครประวัติศาสตร์ได้ดียิ่งขึ้น
ปรางค์ประธาน เป็นปรางค์ขนาดใหญ่ มีลักษณะเป็นแบบฝักข้าวโพด มีบันไดเดินขึ้นไปสู่องค์ปรางค์ได้ ที่มุมปรางค์บางด้านมีร่องรอยปูนปั้นรูปครุฑและเทพพนมเหลืออยู่ โดยสันนิษฐานว่าสร้างพร้อมกับวัด ซึ่งปรางค์ที่เห็นอยู่ในปัจจุบันได้ผ่านการบูรณะจนเป็นของใหม่ไปแล้ว
ปรางค์บริวาร 3 องค์ มีลักษณะที่เรียงติดกันแสดงรูปแบบเขมรบายน (เหมือนกับพระปรางค์สามยอดที่จ.ลพบุรี) ซึ่งตกแต่งด้วยลายปูนปั้น มีการวางผังอยู่ในแนวตะวันออกถึงตะวันตก องค์ปรางค์เป็นกรุมีทางเข้าออกด้านเดียว นอกนั้นเป็นผนังทึบ โครงสร้างภายในก่ออิฐถือปูน มีภาพจิตรกรรมฝาผนังทั้งสองด้าน เป็นภาพพระพุทธเจ้าประทับนั่งปางมารวิชัยบนบัลลังก์ สีที่ใช้เป็นสีแดง คราม เหลือง และดำ เป็นภาพจิตรกรรมยุคอยุธยาตอนต้น ปัจจุบันภาพจิตกรรมเหล่านี้ได้ลบเลือนไปมาก ต่อมาในปีพุทธศักราช 2501 กรมศิลปากรได้ขุดกรุตามที่คนร้ายได้ขุดไว้ พร้อมทั้งบูรณะ จึงพบของมีค่ามากมาย เช่น พระพุทธรูปทองคำ พระพิมพ์ชินแบบอู่ทอง ลูกประคำทองคำ และลูกประคำแก้วผลึกอีกหลายรายการ วัดพระรามตั้งอยู่ริมถนนศรีสรรเพชญ์ ตรงข้ามกับคุ้มขุนแผนและวิหารพระมงคลบพิตร ใน อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา