วัดราชบูรณะ
ตามประวัติกล่าวว่า เมื่อปีพุทธศักราช 1952 สมเด็จพระอินทราธิราช(เจ้านครอินทร์) เสด็จเถลิงถวัลราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ (ราชวงศ์สุพรรณภูมิ)องค์ที่ 6 แห่งกรุงศรีอยุธยา และโปรดให้โอรสทั้ง 3 พระองค์แยกกันครองเมืองต่างๆ คือ เจ้าอ้ายพระยา โอรสองค์โต ครองเมืองสุพรรณบุรี เจ้ายี่พระยา โอรสองค์กลาง ครองเมืองแพรกศรีราชา( อ.สรรค์บุรีในปัจจุบัน) เจ้าสามพระยา โอรสองค์เล็กครองเมืองชัยนาท (หรือเมืองพิษณุโลกในปัจจุบัน) ครั้นถึงปีพุทธศักราช 1967 สมเด็จพระอินทราธิราชสวรรคต เมื่อเจ้าอ้ายพระยาและเจ้ายี่พระยาทรงทราบจึงยกทัพเข้ากรุง เพื่อชิงราชสมบัติสืบต่อจากพระราชบิดา เจ้าอ้ายพระยาตั้งทัพอยู่ที่ ถนนป่ามะพร้าวใกล้กับวัดพลับพลาไชย (ห่างจากวัดราชบูรณะประมาณ 100 เมตร) ส่วนเจ้ายี่พระยาตั้งทัพอยู่ ที่วัดไชยภูมิ (วัดป่าถ่านในปัจจุบันซึ่งอยู่ตรงข้ามกับวัดมหาธาตุ) แล้วเคลื่อนทัพเข้าประจัญบานตรงบริเวณเชิงสะพานป่าถาน ซึ่งอยู่กึ่งกลางระหว่างวัดมหาธาตุกับวัดราชบูรณะ ทั้งสองพระองค์ฟันต้องพระแสงของ้าว พระศอขาดสิ้นพระชนม์พร้อมกัน
เมื่อเจ้าสามพระยาเสด็จจากเมืองชัยนาท ขึ้นครองราชย์สมบัติในกรุงศรีอยุธยาแทนพระราชบิดา ทรงพระนามว่า สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) และจัดการถวายพระเพลิงศพของพระเชษฐาทั้งสอง แล้วทรงอุทิศถวายบริเวณที่ถวายพระเพลิงศพสร้างพระปรางค์ศรีรัตนมหาธาตุและพระวิหารเป็นอารามเรียกว่า “ราชบูรณะ” และก่อเจดีย์อนุสรณ์ขึ้น 2 องค์ ตรงบริเวณเชิงสะพานป่าถ่านที่เจ้าอ้ายพระยาและเจ้ายี่พระยาชนช้างกันจนสิ้นพระชนม์ เรียกว่า “เจดีย์เจ้าอ้ายเจ้ายี่”
วัดราชบูรณะมีแผนผังการตั้งวัดเหมือนกับวัดมหาธาตุที่อยู่ใกล้กัน แต่มีสภาพสมบูรณ์กว่า ซึ่งภายในวัดมีสิ่งที่น่าสนใจประกอบไปด้วย ปรางค์ประธานยุคต้น พระวิหารหลวง พระอุโบสถที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตก ปรางค์ประธาน มีขนาดสูงใหญ่ก่อด้วยศิลาแลงบนฐานสี่เหลี่ยมซึ่งมีเจดีย์อยู่ทั้งสี่ทิศ มีบันไดขึ้นสู่องค์ปรางค์ทางด้านทิศตะวันออก ถือเป็นปรางค์แบบไทยเพราะทำฐานสูง ต่างจากปรางค์ของขอมที่มักมีฐานเตี้ย นอกจากนี้ด้านหน้าปรางค์เป็นมุขใหญ่ยื่นออกมาเป็นห้องคูหา ส่วนยอดเรียวแหลมสูงรูปแบบคล้ายฝักข้าวโพด ยอดมีฝักเพกาในขณะที่ของขอมไม่มี อีกทั้งปรางค์ของขอมมักเรียกว่า ปราสาท เพราะทำขึ้นเพื่อประดิษฐานเทวรูป ส่วนของไทยมักสร้างขึ้นเพื่อประดิษฐานพระบรมสาริกธาตุ หรือพระพุทธรูป ภายในองค์ปรางค์ มีกรุใหญ่และลึก เมื่อปีพุทธศักราช 2500 ได้มีคนร้ายลักลอบขุดวัดราชบูรณะ ได้เครื่องทองจำนวนมาก หลังจากนั้นกรมศิลปากรได้ขุดกรุตามที่คนร้ายขุดทิ้งไว้ พบเครื่องราชูปโภคทำด้วยทองคำจำนวนหลายรายการ มีน้ำหนักรวมกว่า 100 กิโลกรัม ปัจจุบันสิ่งของดังกล่าวได้เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานเจ้าสามพระยา จ.พระนครศรีอยุธยา และ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร นอกจากนั้นภายในกรุยังมีภาพเขียนสีปิดทอง แสดงรูปพระโพธิสัตว์ในพระชาติต่างๆ ทั้งหมด 60 ชาติ เป็นฝีมือช่างสมัยอยุธยาตอนต้น
วัดราชบูรณะตั้งอยู่ริมถนนมหาราช หรือห่างจากวัดมหาธาตุประมาณ 200 เมตร