วัดอโยธยาในรายการ "สุวรรณภูมิโฟกัส" ทางช่อง TGN
วันอาทิตย์ที่ 24 ม.ค.59 เวลา 17.30 น.
วัดอโยธยา
วัดอโยธยา หรือ วัดเดิม ตามตำนานพงศาวดารเหนือเชื่อกันว่า บริเวณวัดนี้เคยเป็นพระราชวังสมัยอโยธยามาก่อน ต่อมาเมื่อกษัตริย์ผู้ปกครองเมืองได้ถวายพื้นที่พระราชวังให้สร้างเป็นวัด จึงได้ชื่อว่า “วัดเดิม” อันเป็นศูนย์กลางของเมืองอโยธยาริมแม่น้ำป่าสัก ก่อนที่พระเจ้าอู่ทองจะทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยา ณ หนองโสน ซึ่งบางตำนานกล่าวว่าในปีพุทธศักราช ๑๔๕๔ มีอำมาตย์ ๙ คนกระทำศึกกันถึง ๒ ปี เพื่อแย่งชิงราชสมบัติกันจนโลหิตนองท่วมท้องช้าง ต่อมาพระเจ้าหลวงขึ้นครองราชย์โปรดเกล้าฯยกวังให้เป็นวัดเรียกว่า “วัดเดิม“ ในพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่๕) ทรงระบุว่า วัดเดิม คือวัดโบราณที่มีมาแต่สมัยอโยธยา เป็นวัดคามวาสี ที่ตั้งอยู่กลางพระนครอโยธยา ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จึงได้มีการเรียกขานนามใหม่ว่า “วัดอโยธยา” เพื่อให้สอดคล้องกับความเชื่อนั่นเอง
สำหรับสิ่งที่น่าสนใจในวัดอโยธยาแห่งนี้ประกอบด้วย สิ่งก่อสร้างในเขตพุทธาวาสที่ยังคงหลงเหลือให้เห็น คือ
เสาประตูทางด้านหน้าทิศตะวันออก ซึ่งมีลักษณะเป็นเสาย่อมุมไม้สิบสองสูงประมาณ ๒.๕๐ เมตร ถัดมาเป็น
เจดีย์ ๒ องค์ สร้างขึ้นในสมัย รัชกาลที่๕ เพื่อใช้บรรจุอัฐิของพระอธิการวัดและญาติ
พระอุโบสถสร้างขึ้นใหม่บนฐาน ที่เคยเป็นพระอุโบสถเก่าในสมัยอยุธยา โดยความศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นที่กล่าวขานของพระอุโบสถหลังนี้ คือพระฉาย(เงา) ของพระประธาน คือ หลวงพ่อศรีอโยธยา ได้ปรากฎขึ้นบนหน้าบรรณ(จั่ว) ของพระอุโบสถอย่างประหลาด ช่างที่บูรณะพระอุโบสถจึงมิกล้าแตะต้องหน้าบรรณส่วนนี้แต่อย่างใด คงพระฉายของหลวงพ่อศรีอโยธยาไว้ให้เป็นที่สักการะแก่มหาชน
พระประธานที่สร้างขึ้นใหม่สวมทัพซากพระประธานเดิมมีนามว่า”หลวงพ่อศรีอโยธยา”
ด้านหน้าพระอุโบสถยังคงปรากฏซากกำแพงแก้วที่สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาให้เห็นอยู่บ้าง นอกจากนี้ยังมีใบเสมาที่ทำด้วยหินทรายคล้ายใบโพธิ์แบบเก่าหาดูได้ยาก
ด้านหลังพระอุโบสถ คือ เจดีย์ซึ่งมีอายุเก่าแก่กว่าเจดีย์ทั่วไปบนเกาะอยุธยา ตัวเจดีย์มีลักษณะเป็นทรงลังกาแปดเหลี่ยมตั้งอยู่บนฐานสูงสี่เหลี่ยมย่อมุมรูประฆังเรียวปากแคบไม่ผายกว้าง องค์ระฆังกลมทำเป็นรูปปูนปั้นกลีบบัวลดหลั่นกันแปลกตากว่าเจดีย์องค์อื่นๆ และมีร่องรอยบันไดขึ้นด้านหน้าและด้านหลัง นับได้ว่าเป็นศิลปะแบบเก่าที่แท้จริงและเป็นแบบแผนเจดีย์ที่มีมาตามสายศิลปะอู่ทองในสมัยอยุธยาตอนต้น ระหว่างปีพุทธศวรรษที่ ๑๗-๑๘ แต่บางความเชื่อกล่าวว่าทั้งเจดีย์ประธานและเจดีย์บริวารน่าจะมีอายุอยู่ในสมัยอยุธยาตอนกลาง ราวปีพุทธศตวรรษ ๒๑-๒๒ และได้รับการบูรณะอีกครั้งในสมัยพระบาทสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภายในประดิษฐานพระรูปของสมเด็จพระนเรศวรที่ถูกสร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี และถูกค้นพบภายหลังกรุงแตก ซึ่งในขณะนั้นพบเพียงครึ่งองค์แต่ในปัจจุบันได้รับการบูรณะจนเต็มองค์เพื่อเป็นที่เคารพสักการะแก่คนรุ่นหลังต่อมา
วัดอโยธยาแห่งนี้ตั้งอยู่นอกเกาะเมืองด้านทิศตะวันออก ที่ตำบลหันตรา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา