วัดธรรมิกราช อดีตเคยเป็นพระอารามหลวงในสมัยกรุงศรีอยุธยา เนื่องจากติดกับพระราชวังหลวง และพระมหากษัตริย์ทรงใช้เป็นที่สดับพระธรรมเทศนาเป็นประจำ เป็นวัดที่สร้างก่อนกรุงศรีอยุธยา โดยพระยาธรรมิกราช ซึ่งเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าสายน้ำผึ้ง หลังจากครองราชย์สมบัติแล้ว ก็ได้สร้างวัดหนึ่งชื่อว่า “วัดมุขราช” ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “วัดธรรมิกราช” เมื่อถึงปีพุทธศักราช 2310 กรุงศรีอยุธยาเสียกรุงแก่พม่า วัดแห่งนี้ก็ได้ถูกทำลายเสียหายและถูกทิ้งร้าง ต่อมาได้มีพระสงฆ์จำพรรษามาจนถึงทุกวันนี้ ภายในวัดมีโบราณสถาน และโบราณวัตถุที่น่าสนใจดังนี้
- พระอุโบสถ อยู่ใกล้กับวิหารทรงธรรมด้านใต้ มีกำแพงแก้วล้อมรอบและมีใบเสมาหินตั้งอยู่นอกกำแพงแก้ว ภายในพระอุโบสถมีพระประธานปูนปั้นสมัยรัตนโกสินทร์ มีภาพเขียนสีด้านทิศตะวันออก เรื่อง พุทธประวัติ นอกจากนี้ยังมีเจดีย์ อีกหลายขนาด จำนวน 11 องค์
- วิหารทรงธรรม มีกำแพงแก้วทั้ง 4 ด้าน มีมุขยื่นออกมาทั้งด้านหน้า และด้านหลัง ตัววิหารใหญ่มากตั้งอยู่บนเนินสูง ภายในมีเสากลม 2 แถว แถวละ 10 ต้น ตัววิหารหันหน้าไปทางทิศตะวันออก
- วิหารเล็ก ปัจจุบันเหลือแต่ฐาน มีเจดีย์ย่อมุม และซุ้มจรนัมทั้ง 4 ทิศ
- วิหารพระพุทธไสยาสน์ ตั้งอยู่ทางด้านเหนือของพระเจดีย์ใหญ่ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ด้านหลังมี 3 ประตู ภายในพระวิหารมีพระพุทธปางไสยาสน์ ก่ออิฐถือปูน เป็นศิลปะสมัยอยุธยา หันพระพักตร์ไปทางทิศเหนือ ที่ฝ่าพระบาทมีรอยพระพุทธบาทปิดทองประดับบกระจก และน้ำพระพุทธมนต์ในพระวิหารนี้กล่าวกันว่ามี ความศักดิ์สิทธิ์มากมีประชาชนมาอธิษฐาน ขอไปใช้ตามความปรารถนาจำนวนมาก
- เจดีย์สิงห์ล้อม เป็นเจดีย์ประธานอยู่หน้าวิหารทรงธรรม มีฐานเจดีย์ทรงลังกาหรือทรงระฆังคว่ำกว้างด้านละ 23 เมตร มีบันไดเป็นรูปนาคขึ้นสู่องค์เจดีย์ทั้ง 4 ด้าน ฐานเป็นรูปสิงห์ปูนปั้นถึง 52 ตัวนั่งล้อมพระเจดีย์ประธาน ซึ่งสร้างและต่อเติมในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง
- เศียรพระธรรมิกราช หล่อด้วยสำฤทธิ์ขนาดใหญ่เป็นศิลปะสมัยอู่ทอง เดิมอยู่ในวิหารหลวงมีความศักดิ์สิทธิ์มาก กล่าวว่าผู้ใดเป็นคดีความกันมาสาบาลต่อหน้าพระพักตร์คนผิดต้องตายหรือมีอันเป็นไปทุกคนจึงเป็นที่กล่าวขานกันมาก สมัยที่พระยาโบราณราชธานินทร์ เป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลกรุงเก่าจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ในพระราชวังจันทรเกษม ได้นำเศียรพระพุทธรูปนี้ไป ต่อมากรมศิลปากรจึงนำไปไว้ที่พิพิธภัณฑ์เจ้าสามพระยา ความศักดิ์สิทธิ์จึงคลายไป
วัดธรรมมิกราชตั้งอยู่ที่ ถนนอู่ทอง ติดกับพระราชวังโบราณด้านทิศตะวันออก หมู่ที่ 3 ตำบลท่าวาสุกรี อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปัจจุบันยังเป็นวัดที่มีพระภิกษุสงฆ์จำพรรษาและปฏิบัติธรรมอยู่