ถ้าจะกล่าวถึงพระอริยะเจ้ารูปหนึ่งที่มีนามว่า พระราชมุนีสามีรามคุณปมาจารย์ ก็อาจจะไม่ค่อยมีคนรู้จักนัก แต่ถ้าจะกล่าวนามให้แคบลงไปอีกว่า เจ้าพะโคะ ก็คงจะมีผู้ที่รู้จักมากขึ้น แต่ถ้าจะพูดคำว่า "หลวงปู่ทวด เหยียบน้ำทะเลจืด" เห็นจะกล่าวว่าไม่มีพุทธศาสนิกชนคนไหนไม่รู้จักก็คงจะไม่ได้ ด้วยเชื่อกันว่า ท่านเป็นพระโพธิสัตว์องค์หนึ่ง คำว่า "พระโพธิสัตว์" นั้น ก็หมายถึงการที่ท่านกำลังบำเพ็ญพุทธบารมีเพื่อหวังซึ่ง "โพธิญาณ" คือความปรารถนาที่จะเป็นพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคต
วัดราชานุวาส หรือ วัดแค เป็นวัดหนึ่งที่มีความเกี่ยวเนื่องด้วยกับหลวงปู่ทวดองค์นี้เป็นอย่างยิ่ง เมื่อกล่าวถึงเรื่องราวภายหลังจากแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรมหาราช แผ่นดินกรุงศรีอยุธยาก็ได้อยู่ร่มเย็นเป็นสุข ภายใต้พระบรมโพธิสมภารของสมเด็จพระเอกาทศรถ ผู้อนุชา แต่ก็มีเหตุการณ์ที่เกือบจะทำให้เสียบ้านเสียเมืองไปโดยมิได้ทำสงครามกับอริราชเลยแม้แต่น้อย นั่นก็คือเรื่องราวการเอาบ้านเอาเมืองด้วยปัญญาของลังกาประเทศ หรือที่เรารู้จักกันในปัจจุบันคือ ศรีลังกานั่นเอง
ตามประวัติเล่าว่า หลวงปู่ทวด เป็นพระภิกษุมีฉายาว่า "ราโม ธมฺมิโก" แต่คนทั่วไปเรียกท่านว่า "เจ้าสามีราม" หรือ "เจ้าสามีราโม" ท่านเกิดในแผ่นดินสมเด็จพระมหาธรรมราชา แต่ถิ่นที่เกิดของท่านอยู่ที่ปัตตานี แต่เดิมท่านจำพรรษาอยู่ที่วัดพะโค๊ะ จึงมีอีกสมญานามหนึ่งว่า สมเด็จพะโค๊ะ
เมื่อท่านเดินทางโดยทางเรือผ่านอ่าวไทยเพื่อเข้ากรุงศรีอยุธยาเพื่อเรียนธรรมนั้นเกิดอัศจรรย์คลื่นลมทะเลปั่นป่วนขึ้น เรือไม่สามารถแล่นฝ่าคลื่นลมไปได้ ต้องทอดสมออยู่กลางทะเลถึง ๗ วัน ทำให้เสบียงอาหารและน้ำหมด บรรดาลูกเรือจึงตั้งข้อสงสัยว่าการที่เกิดอาเภทในครั้งนี้เป็นเพราะท่านที่ เป็นภิกษุรูปเดียวที่อยู่ในเรือ จึงตกลงใจ ส่งท่านขึ้นเกาะ โดยนิมนต์ให้ท่านลงเรือมาด ในขณะที่ท่านนั่งอยู่ในเรือมาดนั้น ท่านได้อธิษฐานจิตห้อยเท้าซ้ายแช่ลงไปในน้ำทะเลและบังเกิดอัศจรรย์ขึ้น เมื่อน้ำทะเลบริเวณนั้นเกิดประกายโชติช่วง แล้วท่านก็บอกลูกเรือให้ตักน้ำขึ้นมาดื่ม เมื่อลูกเรือเหล่านั้นดื่มน้ำนั้นเข้า ก็รู้ได้ว่าเป็นน้ำจืด จึงช่วยกันตักไว้จนเพียงพอ นายสำเภาเรือจึงนิมนต์ท่านขึ้นเรือสำเภาตามเดิม ทั้งกราบขอขมาลาโทษกันเป็นการใหญ่ นับแต่นั้น ท่านจึงมีอีกหนึ่งสมญานามว่า “หลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด"
เมื่อถึง กรุงศรีอยุธยา ก็ได้ไปพำนักอยู่ที่วัดแค ซึ่งก็คือ วัดราชานุวาสที่เรากำลังกล่าวกันถึงอยู่นี้ ท่านศึกษาธรรมะที่ วัดลุมพลีนาวาส ต่อมาจึงได้ไปพำนักอยู่ที่วัดของสมเด็จพระสังฆราช ได้ศึกษาธรรมและภาษาบาลี ณ ที่นั้นจนเชี่ยวชาญจึงทูลลาสมเด็จพระสังฆราชกลับไปจำพรรษาที่วัดราชนุวาสหรือวัดแค ดังเดิม เมื่อประมาณ พ.ศ. 2149 ตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระเอกาทศรถ
กระทั่งวันหนึ่ง ได้มีเหตุพิสดารอุบัติขึ้น กล่าวคือ สมัยนั้นพระเจ้าวัฏฏะคามินี แห่งลังกาประเทศ (ประเทศศรีลังกา) ซึ่งเคยเป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรทางใต้ คิดแก้มือด้วยการท้าพนันแปลธรรมะ และต้องการจะแผ่พระบรมเดชานุภาพใคร่จะได้กรุงศรีอยุธยามาเป็นประเทศราช แต่พระองค์ไม่ปรารถนาให้เกิดศึกสงครามเสียชีวิตแก่ประชาชนทั้งสองฝ่าย จึงทรงวางแผนการเมืองด้วยสันติวิธี คิดหาทางรวบรัดเอากรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองขึ้นด้วยสติปัญญาเป็นสำคัญ เมื่อคิดได้ดังนั้น พระเจ้ากรุงลังกาจึงมีพระบรมราชโองการสั่งให้พนักงานท้องพระคลังเบิกจ่ายทองคำบริสุทธิ์แล้วให้ช่างทองประจำราชสำนักไปหล่อ ทองคำเหล่านั้นให้เป็นตัวอักษรบาลีเล็กเท่าใบมะขาม ตามพระอภิธรรมทั้งเจ็ดคัมภีร์ จำนวน 84,000 ตัว(84000พระธรรมขันธ์) จากนั้นก็ทรงมีรับสั่งให้พราหมณ์ผู้เฒ่าอันมีฐานะเทียบเท่าปุโรหิตจำนวนเจ็ด ท่านคุมเรือสำเภาเจ็ดลำบรรทุกเสื้อผ้าแพรพรรณ และของมีค่าออกเดินทางมายังกรุงศรีอยุธยาพร้อมกับปริศนาธรรมของพระองค์
เมื่อ พราหมณ์ทั้งเจ็ดเดินทางลุล่วงมาถึงกรุงสยามแล้วก็เข้าเฝ้าถวายพระราชสาส์นแก่พระเจ้าเอกาทศรถ มีใจความในพระราชสาส์นว่า "พระ เจ้ากรุงลังกาขอท้าให้พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาทรงแปลและเรียบเรียงเมล็ดทองคำตาม ลำดับให้เสร็จภายในกำหนดเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับพระราชสาส์นนี้เป็นต้นไป ถ้าทรงกระทำไม่สำเร็จตามสัญญากรุงศรีอยุธยาก็จะต้องตกเป็นเมืองประเทศราชของกรุงลังกา โดยกรุงศรีอยุธยาจะต้องส่งต้นไม้เงินต้นไม้ทองและเครื่องราชบรรณาการแก่กรุงลังกาทุกๆ ปีเยี่ยงประเทศราชทั้งหลาย
เมื่อ พระเอกาทศรถทรงทราบความ ดังนั้น ก็ทรงบังเกิดทิฐิมานะด้วยพระเกียรติแห่งความที่ทรงเป็นกษัตริย์ขัตติยวงศ์ จึงมีพระบรมราชโองการให้สังฆการีเขียนประกาศนิมนต์พระราชาคณะและพระเถระทั่วพระนคร ให้กระทำหน้าที่เรียบเรียงและแปลตัวอักษรทองคำในครั้งนี้ แต่ก็ไม่มีท่านผู้ใดสามารถเรียบเรียงและแปลอักษรทองคำในครั้งนี้ได้ จนกาลเวลาล่วงผ่านไปได้หกวัน ยังความปริวิตกแก่พระองค์และไพร่ฟ้าอาณาประชาราษฎร์เป็นยิ่งนัก ทำให้ชาวพระนครต่างก็พากันโจษขานถึงเรื่องนี้ให้ อื้ออึงไปหมด
ครั้นราตรีกาลยามหนึ่งของคืนวันที่หกนั้น สมเด็จพระเอกาทศรถเสด็จเข้าบรรทมและทรงสุบินว่า ได้มีพญาช้างเผือกลักษณะบริบูรณ์เฉกเช่นพญาคชสารเชือกหนึ่ง ผายผันมาจากทางทิศตะวันตก เยื้องย่างเข้ามาในพระบรมมหาราชวัง แล้วก้าวเข้าไปยืนผงาดตระหง่านบนพระแท่นพลางเปล่งเสียงโกญจนาทกึกก้องไปทั่วทั้งสี่ทิศ เสียงที่โกญจนาทด้วยอำนาจของพญาคชสารเชือกนั้นยังให้พระองค์ตกพระทัยสะดุ้งตื่นจากพระบรรทมรุ่งเช้าเมื่อพระองค์เสด็จออกขุนนาง ได้มีรับสั่งถึงพระสุบินนิมิตประหลาดให้โหรหลวงพยากรณ์พระสุบินถวาย โหรหลวงจึงกราบบังคมทูลว่า เรื่องนี้หมายถึงชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ของพระองค์อันจักมาถึง และพระบรมเดชานุภาพก็จะแผ่ไพศาลไปทั่วทิศานุทิศ เป็นที่เกรงขามแก่อริราชทั้งปวง โดยจะมีพระภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งจากทางทิศตะวันตก มาช่วยขันอาสาแปลและเรียบเรียงตัวอักษรทองคำปริศนาได้สำเร็จ พระพุทธเจ้าอยู่หัวเอกาทศรถได้ทรงสดับดังนั้นจึงดีพระทัย รับสั่งให้สังฆการีและข้าราชบริพารช่วยกันออกเที่ยวตามหาพระภิกษุรูปนั้นทันที
ต่อมาสังฆการีได้พยายามเสาะแสวงหาจนไปพบ "เจ้าสามีราม"ที่วัดราชานุวาส หรือ วัดแค แห่งนี้ และเมื่อได้ไต่ถามได้ความว่าท่านมาจากทางใต้เพื่อศึกษาพระธรรมในกรุงศรีอยุธยา สังฆการี จึงเล่าความตามเป็นจริงให้เจ้าสามีรามฟังทั้งได้อ้างตอนท้ายว่า เห็นจะมีท่านองค์เดียวที่ตรงกับพระสุบินของพระพุทธเจ้าอยู่หัว จึงขอนิมนต์ให้ไปช่วยแก้ไขเรื่องร้ายดังกล่าว ครั้นแล้วเจ้าสามีรามก็ตามสังฆการีไปยังที่ประชุมสงฆ์ ณ ท้องพระโรง พระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงมีรับสั่งให้พนักงานปูพรมให้ท่านนั่งในที่อันควร พราหมณ์ทั้งเจ็ดคนได้ประมาทเจ้าสามีรามโดยว่า เอาเด็กหัดคลานมาไขปริศนา เจ้าสามีรามก็แก้คำพราหมณ์ว่า กุมารเมื่ออกมาแต่ครรภ์พระมารดา กี่เดือนกี่วันจึงรู้คว่ำ กี่เดือนกี่วันจึงรู้นั่ง กี่เดือนกี่วันจึงรู้คลาน จะว่ารู้คว่ำแก่ หรือจะว่ารู้นั่งแก่ หรือจะว่ารู้คลานแก่ ทำไมจึงว่าเราจะแก้ปริศนาธรรมมิได้ พราหมณ์ก็นิ่งอึ้งไปไม่สามารถตอบคำถามท่านได้ จากนั้นจึงรีบนำบาตรใส่อักษรทองคำเข้าไปประเคนแก่เจ้าสามีราม เมื่อท่านรับประเคนมาจากมือพราหมณ์แล้วก็นั่งสงบนิ่งอธิษฐานจิตต่อคุณพระศรีรัตนตรัยอยู่ครู่หนึ่ง แล้วท่านก็คว่ำบาตรเทอักษรทองคำเริ่มแปลปริศนาธรรมทันที ด้วยอำนาจบปัญญาบารมี กฤษดาภินิหารของท่านที่ได้จุติลงมาเป็นพระโพธิสัตว์โปรดสัตว์ในพระพุทธศาสนา กอปรกับโชคชะตาของกรุงศรีอยุธยาที่จะยังไม่เสียเอกราช ท่านจึงสามารถเรียบเรียงและแปลอักษรจากเมล็ดทองคำ 84,000 ตัว เป็นลำดับโดยสะดวกไม่ติดขัดประการใดเลย โดยขณะที่ท่านเรียบ เรียงและแปลอักษรไปได้มากแล้ว ปรากฏว่าเมล็ดทองคำตัวอักษรขาดหายไปเจ็ดตัวคือ ตัว "สัง วิ ธา ปุ กะ ยะ ปะ" ท่านจึงแจ้งด้วยปัญญาว่าเป็นอุบายของพราหมณ์ทั้งเจ็ด จึงทวงถามเอาอักษรที่เหลือจากพราหมณ์เหล่านั้น พราหมณ์ทั้งเจ็ดจึงยอมจำนนในที่สุด แล้วประเคนเมล็ดทองคำที่ตนซ่อนไว้นั้นให้ท่านแต่โดยดี ปรากฏว่าท่านแปลพระไตรปิฎกจากเมล็ดทองคำสำเร็จบริบูรณ์เป็นการชนะพราหมณ์ในเวลาเย็นของวันนั้น
การนี้กระทำให้สมเด็จพระเอกาทศรถทรงโสมนัสพระทัยเป็นอย่างยิ่ง ทรงมีรับสั่งจะถวายราชสมบัติให้แก่เจ้าสามีรามครองครึ่งหนึ่ง เจ้าสามีรามก็ไม่ยอมรับ จึงรับสั่งจะให้ครองกรุงศรีอยุธยานาน 7 วัน แต่ท่านก็ยังไม่รับอีก โดยให้เหตุผลว่าท่านเป็นสมณะ จะให้ทำเช่นนั้นหามิได้ สมเด็จพระเอกาทศรถจึงพระราชทานสมณศักดิ์ให้เจ้าสามีรามเป็น "พระราชมุนีสามีรามคุณูปมาจารย์" และตรัสว่า หากภายภาคหน้าพระราชมุนีสามีรามฯ มีประสงค์สิ่งใด พระองค์ก็จะกระทำให้ตามประสงค์นั้นทุกประการ จากนั้นพระราชมุนีสามีรามคุณูปมาจารย์ก็ได้กลับไปจำพรรษาอยู่ ณ วัดราชานุวาส ศึกษาและปฏิบัติธรรมดุจเดิมอยู่เป็นเวลาหลายปี ด้วยความสงบร่มเย็นเป็นสุขตลอดมา
เรื่องราวดังกล่าวนี้ เป็นเรื่องราวโดยสังเขปที่เกี่ยวเนื่องด้วย "หลวงปู่ทวด กับ กรุงศรีอยุธยา" ในขณะที่ท่านจำพรรษาอยู่ที่วัดราชานุวาส หรือ วัดแคแห่งนี้ ซึ่งปัจจุบัน สามารถเดินทางไปวัดแคได้โดยทางเรือจากตลาดหัวรอเพียงทางเดียว เนื่องจากวัดแคตั้งอยู่บนเกาะลอยที่ไม่มีถนนหรือสะพานข้ามไปถึง