สวัสดีครับ เกร็ดสาระจาก "จตุรัส" วันนี้ ผมขอนำเรื่องที่ว่าด้วยทิศของคนโบราณมาฝากนะครับ คุณผู้ฟังคงจะเคยได้ยินคำว่า "ทิศหัวนอน" "เบื้องตีนนอน" "เบื้องหัวขวา" "เบื้องหัวซ้าย" จากในละครของเรานะครับ วันนี้ผมเลยถือโอกาสนำเอาเรื่องดังกล่าวมาให้คุณผู้ฟังที่่ยังไม่รู้ ให้ได้กระจ่าง จะได้ฟังละครกันอย่างมีความสุขครับ
ชาวสุโขทัย หรือคนไทยนับแต่โบราณ มีประเพณีนิยมหันศีรษะไปทางทิศใต้ตามแบบพระพุทธเจ้า สังเกตได้จากพระนอนครับ ตามปกติแล้ว จะหันพระเศียรไปทางทิศใต้ (ที่ไม่ได้หันไปทางทิศใต้ก็มีนะครับ จะเป็นอีกความหมายหนึ่ง) และเมื่อหันหัวนอนไปทางทิศใต้แล้ว ทางทิศเหนือก็จะเป็นทิศปลายเท้า เรียกว่า "เบื้องตีนนอน" และทิศตะวันออกก็จะเป็นทิศหัวขวา หรือขวามือ(ในเรื่องหัวขวานี้ ยังมีอีกความหมายหนึ่งที่แสดงถึงความเป็นมงคลที่เรียกว่า ทักษิณาวรรต) ทิศตะวันตกจะเป็นทิศหัวซ้าย หรือซ้ายมือ(สำหรับหัวซ้ายก็ยังมีอีกความหมายในกรณีอื่น เราเรียกกันว่า อุตรวรรต) เพราะฉะนั้น ในละครวิทยุอิงประวัติศาสตร์ "เล่าขานตำนานวีรชน" เรา พูดถึงทิศหัวนอนหรือเบื้องหัวนอน ก็เข้าใจได้เลยค่ะ ว่าคือทิศใต้นั่นเอง
ความเชื่อนี้มิได้มีแต่คนไทยโบราณหรือชาวสุโขทัยเท่านั้นนะครับ แม้แต่หลักฮวงจุ้ย หรือศาสตร์จีนโบราณ ก็ยังเชื่อเรื่องทิศใต้เหมือนกัน นัยว่าลมหนาวมาทางทิศเหนือคือลมหนาวมาจากภูเขาที่ปกคลุมไปด้วยหิมะ หันศีรษะไปทางทิศเหนือก็จะมีความเจ็บป่วยได้ง่าย จึงหันศีรษะไปทางทิศใต้ ซึ่งเป็นลมทะเลที่เป็นลมเย็นสบายๆ นั่นเองครับ
เกร็ดสาระจาก "จตุรัส" ยังมีอีกมาก แล้วจะค่อยๆ นำมาลงไขกระจ่างให้เพื่อฟังละคร "เล่าขานตำนานวีรชน" อย่างมีความสุขครับ