สวัสดีครับ เกร็ดสาระจาก “จัตุรัส” ในตอนนี้ ผมขอนำเรื่อง “ปีพุทธศักราชกับวันวิสาขบูชา” มาฝากครับ
เนื่องในวันวิสาขบูชา ที่คงจะเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้ว ว่าวันวิสาขบูชา เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ทั้งของไทย และของโลกอีกด้วย และคุณผู้ฟังชาวพุทธก็คงจะทราบอีกเช่นกัน ว่าวันนี้เป็นวันสำคัญอย่างไร แต่สำหรับผู้ที่อาจจะลืมเลือนไปบ้าง ก็จะขอทบทวนความจำกันสักเล็กน้อย นั่นก็คือ วันวิสาขบูชา เป็นวันคล้ายวันประสูติของพระมหาโพธิสัตว์สิทธัตถะ วันคล้ายวันตรัสรู้และวันคล้ายวันปรินิพพานของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ของทุกปี ซึ่งถือเป็นวันอัศจรรย์วันหนึ่ง ที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีวันคล้ายวันประสูติ วันตรัสรู้ (คือเสมือนได้ประสูติใหม่จากพระมหาโพธิสัตว์เป็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า) และวันเสด็จดับขันธปรินิพพานครับ
ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นที่รู้กันทั่วไปในหมู่พุทธศาสนิกชนกันอยู่แล้วครับ แต่ที่ผมอยากจะนำเอาเรื่องปีพุทธศักราชมาฝาก เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญสำหรับชาวพุทธ และที่สำคัญ ชาวไทยเราก็ใช้ปีพุทธศักราชหรือ พ.ศ. กันเป็นประจำ ทั้งอย่างเป็นทางการโดยในทางราชการ และตามปฏิทินทั่วๆ ไป ก็จะยิ่งขาดไม่ได้ครับ
ก่อนอื่นเท่าที่ทราบ นอกจากประเทศที่ใช้พุทธศักราชอย่างเป็นทางการแล้ว ก็เห็นจะมีประเทศศรีลังกา ที่เราได้นำเอาพระพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์มาตั้งแต่สมัยแผ่นดินพ่อขุนรามคำแหงมหาราชครับ นอกจากนั้น ก็คงจะมีประเทศเมียนมาร์(พม่า) ลาว และกัมพูชา (ประเด็นนี้ผิดพลาดยังไงก็ขออภัยนะครับ) ที่ใช้ปีพ.ศ. หรือพุทธศักราชอย่างเป็นทางการ
เรื่องปีพุทธศักราชนับจากที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน ก็คงจะไม่มีปัญหาอะไร ที่เป็นที่ทราบกันว่า ปีนี้เป็นปีพุทธศักราช ๒๕๕๙ นั่นก็หมายความว่า สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานมาแล้ว ๒๕๕๙ ปี
แต่ประเด็นก็คือ ประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ถึงแม้ว่าจะนับปีพุทธศักราชจากวันที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าดับขันธปรินิพพานเหมือนกัน แต่วิธีการนับผิดกันครับ
ประเทศไทยเรา นับวันที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานเป็นพ.ศ. ๐ และเมื่อครบรอบวันเสด็จดับขันธปรินิพพาน ๑ ปี ก็จะนับเป็นปีพ.ศ.ที่ ๑ จนถึงทุกวันนี้ ก็จะเป็นปีพ.ศ.๒๕๕๙
ส่วนประเทศอื่นๆ อาทิ ประเทศศรีลังกา เมียนมาร์ ลาว และกัมพูชา จะนับจากวันที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานเป็นพ.ศ. ๑ เลยทีเดียวครับ พอครบรอบวันเสด็จดับขันธปรินิพพาน ๑ ปี ก็จะเป็นปีพ.ศ.๒ จนถึงทุกวันนี้ ก็เลยเป็นปีพ.ศ.ที่ ๒๕๖๐ ซึ่งต่างกับไทยเรา ๑ ปีครับ
วิธีการนับอันนี้ เผอิญเมื่อปีพ.ศ.๒๕๕๘ ผมได้มีโอกาสไปต้อนรับเจ้าอาวาสวัดเส้าหลิน พระมหาเถระสืออย่งซิน ที่มาเยือนประเทศไทย ท่านได้มอบจานเซรามิคที่เป็นรูปของท่าน และปฏิทินวัดเส้าหลินมาให้เป็นที่ระลึก ซึ่งปฏิทินนั้น ก็เป็นปฏิทินของปีถัดไป ซึ่งควรจะเป็นปีพ.ศ.๒๕๕๙ แต่กลับกลายเป็นปีพ.ศ.๒๕๖๐ นั่นก็หมายความว่า แม้แต่วัดเส้าหลินที่มีท่านโพธิธรรมตั๊กม๊อ(ศากยวงศ์ หรือวงศ์เดียวกับเจ้าชายสิทธัตถะ) ซึ่งถือเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ ๖ นับจากพระมหากัสสปะ ประธานสงฆ์ที่ทำสังคยนาพระไตรปิฎกเป็นครั้งแรก นับจากสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว ก็นับปีพ.ศ.๑ จากวันแรกที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานเช่นเดียวกันครับ
เรื่องนี้ถ้าต่างคนต่างเข้าใจ ปีพ.ศ. หรือการนับปีจากที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน จำนวนปีก็คงจะไม่ผิดเพี้ยนอะไรครับ เพราะเราดูกันที่มติของแต่ละประเทศ
แต่เรื่องสำคัญที่ผมจำเป็นจะต้องนำมาฝาก เพราะเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งสำหรับพุทธศาสนิกชน ก็คือ ปีพ.ศ. ที่จริงแล้วไม่ใช่นับวันที่ ๑ มกราคม แต่ควรนับจากวันวิสาขบูชา คือนับจากวันที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานครับ ส่วนที่จะใช้กันให้เป็นสากลเหมือนกันทั่วโลกคือการนับวันปีใหม่ แต่คงไว้ซึ่งปีพุทธศักราช ก็ถือว่าเราปรับใช้ของเราให้เป็นสากลที่ต้องเหมือนกันทั่วโลกเท่านั้น เพราะเราไม่ได้อยู่คนเดียวในโลกครับ
สุดท้ายนี้ เนื่องในวันวิสาขบูชา ขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัยจงอำนวยพรให้ท่านผู้ฟัง “เล่าขานตำนานวีรชน” ทุกท่าน จงมีความสุข คิดหวังสิ่งใดก็ขอให้สมปรารถนาทั้งตนเองแลครอบครัว ตลอดจนคนรอบข้าง ญาติสนิทมิตรสหายทุกท่านครับ
เกร็ดสาระจาก “จตุรัส” คราวหน้าจะเป็นอะไร คอยติดตามกันนะครับ