สวัสดีครับ เกร็ดสาระจาก "จตุรัส" ตอนนี้ ขอนำเราเรื่อง "ทักษากับการสร้างเมือง" ที่ถูกอ้างอยู่ในละครวิทยุอิงประวัติศาสตร์ "เล่าขานตำนานวีรชน" อยู่หลายครั้งหลายครามาฝาก โดยเฉพาะตอนที่ เจ้าราม เจ้ามังราย และเจ้างำเมือง ได้ไปเรียนรู้หลวกสรรพวิชาจากพ่อปู่ฤาษีสุกกทันต์ที่เขาสมอคอน ได้เรียนวิธีการสร้างบ้านแปงเมือง ก็เรียนวิธีแบบทักษา โดยเฉพาะเมื่อทั้งสามพระองค์ร่วมกันสร้างเมืองนครพิงค์ศรีเชียงใหม่ ก็ได้วางผังเมืองตามตำรามหาทักษา ผมจึงถือโอกาสนี้นำเอาเกร็ดเรื่องนี้มาฝากทีเดียวเลยครับ
ก่อนที่ละครวิทยุอิงประวัติศาสตร์ "เล่าขานตำนานวีรชน" เราจะเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคกรุงศรีอยุธยา ผมขอเก็บตกให้คุณผู้ฟังก่อนนะครับ ในละครที่ว่า พ่อขุนรามคำแหงมหาราช พญามังราย และพญางำเมือง ได้พูดถึงการสร้างเมืองตามตำรามหาทักษา ที่ได้เรียนรู้หลวกมาจากพ่อปู่สุกกทันต์ฤาษีนั้น เรามาขยายความกันดูนะครับ ว่าเป็นอย่างไรกันบ้าง
ทิศแรกของเมืองคือทิศอิสาน หรือทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ว่า "เจดีย์ดุจรวิ อยู่ทิศอิสาน" ซึ่่งรวิ ก็คือ พระอาทิตย์นั่นเองครับ ตามทักษานาม ว่าเป็นครุฑนาม ครุฑคือนก ตามชัยภูมิก็คือ ที่โล่งๆ ที่มีต้นไม้สูงโดดๆ อยู่เพียง ๒-๓ ต้น สำหรับให้นกเกาะได้ เปรียบได้กับเจดีย์ พระปรางค์ จึงให้สร้างเจดีย์หรือพระปรางค์ไว้ทางทิศนี้ของเมืองครับ
ทิศที่สองคือทิศบูรพา หรือทิศตะวันออก จันทร์ "พยัคฆาบูรพา เป็นป่าหมาก" ทิศนี้เป็นพยัคฆ์นาม หรือนามเสือ เสือจะอยู่ในป่า โดยเฉพาะป่าที่มีผลหมากรากไม้ที่สัตว์เล็กๆ เข้ามาหากิน แล้วก็จะถูกเสือจับไปกินครับ นัยหนึ่งก็ว่า เสือหรือพยัคฆ์เฝ้าผลหมากรากไม้เอาไว้ให้จากสัตว์อื่่นๆ ทิศของเมืองทิศนี้จึงควรปลูกป่าหมาก ผลหมากรากไม้ต่างๆ ครับ
ทิศที่สามคือทิศอาคเนย์ หรือทิศตะวันออกเฉียงใต้ อังคาร "อาคเนย์สีหราช เป็นลานดุจสนามรบ" ทิศนี้เป็นสีหนาม หรือสิงโต ซึ่งเป็นเจ้าป่า มักอยู่ในที่โล่ง ทิศของเมืองทิศนี้จึงควรทำเป็นลานดุจสนามรบครับ
ทิศที่สี่คือทิศทักษิณ หรือทิศใต้ พุธ "ทักษิณสุนัข เป็นหมู่เรือนไพร่หางเมือง" ทิศนี้เป็นสุนัขนาม หรือทิศสุนัข สุนัขจะอยู่เฝ้าบ้านเรือน จึงให้ไพร่บ้านหางเมืองปลูกบ้านเรือนอยู่ทางทิศนี้ครับ
ทิศที่ห้าคือทิศหรดี หรือทิศตะวันตกเฉียงใต้ เสาร์ "หรดีมีลำธาร ดั่งโสโร นาคนาม" ทิศนี้เป็นนาคนาม หรือทิศพญานาค หรืองู พญานาคหรืองูจะอยู่ในน้ำ ทิศของเมืองทิศนี้จึงควรเป็นลำธารหรือคลองที่มีน้ำไหลครับ
ทิศที่หกคือปัจจิมทิศ หรือทิศตะวันตก พฤหัสบดี "ปัจจิมมุสิกลำธารต่างสรีดภงค์" ทิศนี้เป็นมุสิกนาม หรือหนู ส่วนคำว่าสรีดภงค์คือฝาย หรือท่อส่งน้ำ หนูอยู่ในรู หรืออยู่ในท่อ ท่านจึงให้ทำสรีดภงค์ทางทิศนี้ของเมืองครับ
ทิศที่เจ็ดคือพายัพ หรือทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ราหู "คชนาม" หรือช้าง ท่านว่าให้เป็นป่า ซึ่งช้างหากินกับป่าไม้ ทิศนี้ของเมืองจึงควรเป็นป่าครับ
ทิศที่แปดหรือทิศสุดท้ายคืออุดร หรือทิศเหนือ ศุกร์ "อัชชนาม" หรือแพะ ที่จริงแล้วอัชชนามไม่ได้หมายถึงแค่แพะอย่างเดียวเท่านั้นครับ แต่เป็นพวกสัตว์เลี้ยงบนทุ่งหญ้า เช่น โค กระบือ ฯลฯ ทิศนี้ของเมืองจึงควรเป็นทุ่งหญ้านั่นเองครับ
ทั้งหมดนี้อยู่ในตำราพิชัยสงครามตั้งแต่โบราณ และคาดว่า ตำรานี้มีมาก่อนรวบรวมตำราพิชัยสงครามเสียอีกครับ เพราะตำราพิชัยสงครามเริ่มรวบรวมกันครั้งแรกในสมัยกรุงศรีอยุธยา แผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ หรือถ้าเอาตามยุคในวรรณคดีที่เป็นที่รู้จักกันทั่วไป ก็คือแผ่นดินพระพันวษา ในยุคขุนช้างขุนแผนนั่นเอง ถ้าคุณผู้ฟังติดตามละครเราไปเรื่อยๆ รับรองได้ฟังกันถึงยุคนั้นกันแน่ๆ ครับ และก็จะมีขุนช้างขุนแผนกับนางวันทองให้ได้ฟังกันด้วยนะครับ
แต่ตอนนี้ เราอยู่ที่ยุคนี้ ก็ว่ากันว่า หนึ่งพ่อขุนกับอีกสองพญา ซึ่งท่านทรงสร้างเมืองตามตำรานี้ครับ