สวัสดีครับ เกร็ดสาระจาก "จตุรัส" ในตอนนี้ เป็นเรื่องที่ค้างคาเอาไว้จากบทความที่แล้ว นั่นก็คือ เรื่องของ "วงศ์ลวจังกราช" ซึ่งเป็นวงศ์ของทั้งพญามังรายและพญางำเมืองครับ
ติดตาม “เล่าขานตำนานวีรชน” ในช่วง ๓ กษัตริย์ ไประยะหนึ่งแล้ว คุณผู้ฟังคงอยากจะทราบความเป็นมา หรือสายสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกันทางเชื้อสายของพญามังรายกับพญางำเมืองกันนะครับ วันนี้เราเลยนำประวัติโดยย่อมาฝากครับ ใครมีความรู้อื่นๆ หรือเรื่องราวผิดพลาดตรงไหน นำมาแชร์กันได้นะครับ เพราะอันที่จริง เรื่องราวเหล่านี้ก็น่าจะยังไม่ได้ข้อสรุป คงจะเป็นเพียงข้อสันนิษฐานกันเท่านั้นครับ
เรื่องเล่าที่ถูกเล่าขานสืบต่อกันมาคือคำว่า “ตำนาน” มักถูกนำมาประติดประต่อกับหลักฐานทางประวัติศาสตร์ เพราะตัวอักษรหรือคำจารึกเป็นเอกสารในสมัยโบราณมีน้อย หรือแทบจะเรียกว่าไม่มีเลยทีเดียวครับ เมื่อเป็นเรื่องเล่าเกี่ยวกับบรรพบุรุษหรือบรรพชน และเล่าขานกันสืบต่อๆ กันมา จึงมักมีเรื่องแต่งเติมในเชิงพิสดารและอภินิหารต่างๆ นานาเป็นเรื่องธรรมดา นักประวัติศาสตร์ที่สืบค้นเรื่องราวในอดีต จึงมักนำเรื่องในตำนานมาเป็นแกนเรื่องประกอบกับหลักฐานทางโบราณคดีเพื่อให้ได้ข้อสรุปทางประวัติศาสตร์อีกทีหนึ่งครับ
เรื่องของวงศ์ลวจังกราช ที่เป็นต้นวงศ์ของพญามังรายและพญางำเมืองก็เช่นเดียวกันครับ รวมถึงอาจมีบางท่านสันนิษฐานไปถึงวงศ์ของพระร่วงสุโขทัยด้วย ว่ามีเชื้อสายมาจากที่เดียวกัน คือ “วงศ์ลวจังกราช”
ว่ากันว่า ลวจังกราชเทวบุตร ผู้เป็นปฐมกษัตริย์ของราชวงศ์ลาว ตำนานว่า “ลวจังกราชเทวบุตรได้รับบัญชาจากพระอินทร์ให้พาบริวารหนึ่งพันจุติลงมาปกครองเมืองเชียงลาว” บ้างว่าเป็นชาวพื้นเมืองในเขตดอยตุง หรือที่ตำนานเรียกว่า เกตุบรรพต หรือบ้างว่าเป็นหัวหน้าชนชาติไทที่อพยพมาจากแคว้นจก(ทางตอนใต้ของจีน) เดิมทีเรียกขานกันว่า “ปู่เจ้าลาวจก” คือเป็นผู้มีจอบมาก และได้ให้ประชาชนทั่วไปเช่าจอบเพื่อทำนา (สมัยโบราณ จอบเป็นเครื่องมือชั้นสูง เปรียบกับรถไถสมัยนี้นั่นเองครับ หรือมิเช่นนั้น ก็คงเป็นประมาณเจ้าของที่ดินที่ให้คนเช่าทำไร่ทำนาครับ) ไพร่ฟ้าหรือชาวเมืองต่างจึงยกปู่เจ้าลาวจกขึ้นเป็นเจ้าเมือง กษัตริย์ที่สืบเชื้อสายกันต่อๆ มา จึงมีคำนำหน้าว่า “ลาว” นับสิบๆ รัชกาล จนมาถึงพญามังรายที่ไม่ได้ใช้คำว่า “ลาว” นำหน้า อาจเป็นเพราะพระองค์ทรงมีเชื้อสายทางพระมารดาเป็นไทยลื้อ หรือธิดาเมืองเชียงรุ้ง แคว้นสิบสองปันนาก็เป็นได้ครับ
ต่อมา ปู่เจ้าลาวจกได้ส่งโอรสไปครองเมืองต่างๆ ทั้งเมืองเชียงของ เมืองยอง เมืองเชียงลาว และเมืองเงินยาง(หิรัญนครเงินยางหรือเชียงแสน ที่เป็นที่ประสูติของพญามังรายนั่นเองครับ)
เมืองเงินยางนี้ พญาลาวเคียง เป็นผู้มาสร้างและปกครอง ต่อมาจนถึงสมัยของพญาลาวเงิน ได้ส่งราชบุตรพระองค์รองคือ “ขุนจอมธรรม” ไปครองเมืองภูกามยาว(พะเยา) เมืองนี้อาจเคยเป็นชุมชนมาก่อน แล้วกลับเป็นเมืองร้างจนขุนจอมธรรมมาปกครอง โดยขุนจอมธรรมได้สร้างเมืองขึ้นมาใหม่ แล้วแยกตนเองเป็นอิสระจากเมืองอื่นๆ (ภูกามยาวอาจเป็นชื่อที่ถูกเรียกจากลักษณะของภูเขาที่เป็นเนินยาวทอดออกไป)
ขุนจอมธรรมมีราชโอรสองค์หนึ่ง ชื่อ “ขุนเจื๋อง” ครองราชย์ต่อจากพระบิดา ขุนเจื๋องพระองค์นี้เป็นกษัตริย์นักรบที่ขึ้นชื่อในสมัยโบราณมากๆ เลยทีเดียวครับ นำทัพไปรบทั้งพระชนม์ จนสิ้นพระชนม์ในสนามรบด้วยพระชนม์ ๖๗ ปี ทั้งพระชนม์ของพระองค์ รบที่ไหน ชนะที่นั่น พระองค์ทรงสร้างแบบแผนการปกครองที่ใช้ในภูกามยาวจนถึงสมัยพญางำเมืองก็ยังใช้อยู่ (ตามที่ได้เคยลงไปแล้วเรื่อง ๓๖ พันนา หรือเรื่องการปกครองของแคว้นภูกามยาวในยุคพญางำเมืองครับ)
คราวหนึ่ง เมื่อเกิดศึกที่เมืองเงินยางที่พระเจ้าลุงของขุนเจื๋องครองอยู่ ขุนเจื๋องจึงยกทัพไปช่วยจนข้าศึกแตกหนีไป จนพระเจ้าลุง(ขุนชิน)ของขุนเจื๋องยกธิดาให้เป็นชายาพระองค์ที่ ๓ ของขุนเจื๋อง ทางภูกามยาวพระองค์ก็ยกให้ราชบุตรครองต่อ แล้วพระองค์ก็ได้ยกทัพไปตีล้านช้าง ตีเมืองแกว(บ้างว่าคือ “เวียดนาม”) จนได้เป็นกษัตริย์เมืองแกว พระองค์ทรงตีได้เมืองต่างๆ แล้วก็ส่งราชบุตรไปครอง จนเชื้อสายวงศ์ลาวจก หรือลวจักราช ได้กระจัดกระจายไปจนทั่ว เป็นเมืองพี่เมืองน้องกันหมด สมัยนั้น ยังไม่มีศูนย์กลางอำนาจ จะขึ้นแต่ขุนเจื๋องกันหมด เมื่อสิ้นขุนเจื๋อง เมืองต่างๆ ก็ไม่ได้ขึ้นแก่กัน จนมาถึงยุคพญามังราย ที่รวมอำนาจเป็นแคว้นโยนกได้ แล้วในรัชกาลหลังพญามังราย ก็ได้ถูกเรียกขานกันว่า แคว้นล้านนากันต่อมานั่นเองครับ
ถ้าคุณผู้ฟังค่อยๆ ไล่เลียงกันดีๆ ก็จะทราบถึงความสัมพันธ์ทางสายพระโลหิตของพญามังรายแห่งหิรัญนครเงินยาง(เชียงแสน)และพญางำเมืองแห่งภูกามยาว(พะเยา) ว่าเป็นสายพระโลหิตเดียวกันอย่างไม่ต้องสงสัยครับ ส่วนพ่อขุนรามคำแหงที่เป็นพระโอรสของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ หรืออดีตพ่อขุนบางกลางหาวนั้น บ้างว่าเป็นวงศ์หนองแส บ้างว่าเป็นเชื้อสายเดียวกันกับพญามังรายและพญางำเมือง ปัจจุบันยังไม่ชัดเจน จึงยังไม่ได้ข้อสรุป ซึ่งยังเป็นปริศนาให้ถกเถียงสันนิษฐานกันอยู่ครับ