ดูจากภาพนี้แล้ว คงจะเห็นหลักฐานบรรพบุรุษของชาวเสียม(สยาม) ซึ่งถูกสลักไว้ที่ปราสาทนครวัด ที่เชื่อกันว่า ชาวเสียม(สยาม) เป็นนักรบที่เก่งกาจในสมัยโบราณ ทีนี้เรามาเข้าเรื่องที่ติดค้างกันอยู่นะครับ
สำหรับเกร็ดสาระจากจัตุรัสตอนนี้ ได้นำเรื่องราวของละโว้มาให้ช่วยกันพิจารณาจากข้อสันนิษฐานของนักวิชาการหลายๆ ท่าน ว่าละโว้เป็นใครกันแน่ครับ บทความนี้อาจจะยาวซักหน่อย แต่สำหรับผู้สนใจ ก็อาจจะสั้นไปก็เป็นได้ครับ
ชาวละโว้ เป็น “เสียม” (สยาม) หรือเป็น “ขอม” ฟังละครวิทยุอิงประวัติศาสตร์ “เล่าขานตำนานวีรชน” ตั้งแต่ยุคพ่อขุนบางกลางหาวกับพ่อขุนผาเมือง จนมาเป็นพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ พ่อขุนรามคำแหงมหาราช พญามังราย พญางำเมือง แล้วก็มาถึงยุคพระเจ้าอู่ทอง ที่ทรงมีความสัมพันธ์กับ ละโว้-อโยธยา โดยทรงมีพระมารดาเป็นธิดาเมืองอโยธยา กันแล้ว คุณผู้ฟังคงจะสงสัยว่า ละโว้ เกี่ยวอะไรกับอโยธยากันนะครับ คำตอบนี้ ถ้าคุณผู้ฟังได้ติดตามชมรายการ “สุวรรณภูมิโฟกัส” ทางช่อง TGN ทุกวันอาทิตย์ เวลา ๑๗.๓๐-๑๘.๐๐ น. คุณผู้ฟังคงจะพอเข้าใจแล้ว ว่า อโยธยา ในฐานะเมืองท่าของเมืองละโว้ มีกษัตริย์ปกครองอยู่ ทั้งกษัตริย์ละโว้เอง หรือบางเวลา กษัตริย์เมืองละโว้ก็ทรงส่งพระญาติหรือราชบุตรมาครอง คราวนี้เรามาดูความเป็นมาของเมืองละโว้กันครับ
ตามพงศาวดารเหนือกล่าวว่า อาณาจักรละโว้ก่อตั้งโดยพระยากาฬวรรณดิศ ราวปีพุทธศักราช ๑๑๘๑ ซึ่งอาจเป็นปีเดียวกันกับการตั้งจุลศักราชของพระเจ้าบุพโสรหัน กษัตริย์พุกาม(พม่า) บางแห่งเชื่อว่า พระยากาฬวรรณดิศเป็นผู้ตั้งจุลศักราชต่างหาก ไม่ใช่กษัตริย์พม่าครับ ซึ่งว่ากันว่าอาณาจักรละโว้ถูกสถาปนาขึ้นราวปลายยุคทวารวดี ซึ่งถือเป็นยุคแรกของแผ่นดินสุวรรณภูมิครับ
ในอีกทางหนึ่ง ประวัติศาสตร์ทางอาณาจักรขอม กรุงศรียโสธรปุระที่ประเทศกัมพูชาว่า เมื่อสิ้นรัชกาลพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ ราวปีพุทธศักราช ๑๖๙๓ อาณาจักรขอมเริ่มอ่อนแอลง จนมีกองทัพเรือของพวก “จาม” (จามปา อยู่ทางใต้ของเวียดนาม ซึ่งมีความสามารถในการเดินเรือเป็นพิเศษ) ได้บุกเข้ายึดเมืองหลวงของอาณาจักรได้
คงจะเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้ว ว่านะครับ ว่าอาณาจักรขอมโบราณ นิยมก่อสร้างปราสาทหินขนาดใหญ่ ที่ทำด้วยศิลาแลงเป็นจำนวนมาก ฉะนั้น การใช้แรงงานจำนวนมาก็ต้องติดตามมา เมื่อพวกจามเข้ามายึดเมืองหลวงของอาณาจักรขอมได้แล้ว ก็ไม่ได้นิยมสร้างปราสาทหินอย่างที่ผ่านมา แรงงานที่มีอยู่เป็นจำนวนมากจึงไม่มีงานทำ พวกจามเกรงว่าคนเหล่านี้จะรวมตัวกันลุกขึ้นชิงอำนาจในเมืองหลวงของอาณาจักรขอมก็เป็นได้ จึงจำเป็นต้องส่งคนเหล่านี้ออกไปจากศูนย์กลางของอาณาจักรขอม(ประเทศกัมพูชา) โดยนักวิชาการหลายท่านเชื่อกันว่า ขอมส่งคนเหล่านี้มาตั้งเมืองใหม่ที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งก็คือ เมืองละโว้ และอโยธยา และนั่นเองครับ โดยที่เชื่อกันว่า คนเหล่านี้ ก็คือ ชาวเสียม(สยาม) ที่เป็นบรรพบุรุษของพระมารดา(พระนางมณีมาลา) ของพระเจ้าอู่ทอง ในละครของเราครับ
นอกจากนี้ ยังมีชาวเสียง(สยาม) อีกพวกหนึ่ง ที่ถูกส่งให้ไปตั้งเมืองใหม่เช่นเดียวกัน แต่ชาวเสียมพวกนี้ เป็นนักรบที่เก่งกาจ ที่อาณาจักรขอมไม่ไว้วางใจเท่าใดนัก จึงส่งให้ไปตั้งเมืองใหม่ที่ลุ่มแม่น้ำสุพรรณบุรี ซึ่งเป็นที่มาของราชวงศ์สุพรรณภูมิ บรรพบุรุษของเจ้าพะงั่ว หรือขุนหลวงพะงั่วในละครของเราเช่นเดียวกันครับ
มาถึงตรงนี้ ถ้าจะถามว่า ละโว้ก็ตาม อโยธยาก็ตาม สุพรรณภูมิก็ตาม เคยเป็นเมืองอยู่ก่อนหรือไม่??? มีหลักฐานอยู่ว่า ถิ่นเดิมแห่งนี้ เคยเป็นเมืองมอญ หรือรามัญมาก่อน ตั้งแต่นครปฐมที่ถือเป็นศูนย์กลางในยุคทวารวดี ซึ่งมีชุมชนอยู่ทั่วไป ทั้งนครปฐม อู่ทอง(สุวรรณภูมิหรือสุพรรณบุรี) อโยธยา ไปจนถึงแผ่นดินแถบอีสาน ซึ่งถูกขุดค้นพบโบราณวัตถุสมัยทวารวดีมากมายค่ะ การที่อาณาจักรขอมส่ง “เสียม” มาสร้างเมืองใหม่นั้น ถือว่าเป็นการมาสร้างเมืองทับเมือง หรือซ้อนเมือง แล้วกลืนอำนาจของเมืองใกล้เคียงนั่นเองครับ
กลับมาที่เรื่องของชาวเสียมในละโว้กันต่อครับ ที่ว่าถูกอาณาจักรขอมส่งมาสร้างเมืองใหม่อยู่ที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา คือ ละโว้- อโยธยา ชาวเสียมเหล่านี้ ก็ได้นำเอาอารยธรรม เช่น อักษรขอม การแต่งกาย และพิธีกรรมต่างๆ มาด้วย จึงมักเรียกกันว่า ละโว้คือ “อาณาจักรขอม” ครับ (แต่ก็มีบางแห่งที่เชื่อว่า กษัตริย์ละโว้ เป็นพระญาติกับกษัตริย์อาณาจักรขอม ประเทศกัมพูชา เรื่องนี้ยังเป็นที่คลุมเครืออยู่ ปัจจุบันยังหาข้อสรุปไม่ได้ ยังเป็นแค่คำว่า “คนนั้นเชื่อว่า คนนี้เชื่อว่า” เท่านั้นครับ)
ทีนี้เรามาดูกันครับ ว่า ชาวเสียมที่ถูกส่งมาละโว้ และสุพรรณภูมิ มีที่มาอย่างไรกัน
ก่อนอื่นเราคงต้องมาดูคำว่า “เสียมกุก” (ชาวสยาม) กันก่อนครับ ภาษาขอม à เสียมกุก ภาษาจีน à เสียมก๊ก ก็คือพวกเสียม หรือพวกสยามนั่นเองครับ เชื่อกันว่า พวกเสียมคือพวกตระกูลไทย-ลาว (เชื่อกันว่า ไทยกับลาวเป็นชนชาติเดียวกัน) ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศไทยปัจจุบันครับ ในระยะที่อาณาจักรขอม(กัมพูชา) มีอำนาจ ก็ได้นำกองทัพไปตีเมืองต่างๆ และกวาดต้อนคนมาใช้แรงงาน ดังคำที่ว่า “เก็บข้าใส่เมือง” ซึ่งการนำทัพไปตีเมืองต่างๆ ในสมัยโบราณนั้น นอกจากเพื่อผลผลิต และทรัพย์สินต่างๆ แล้ว สิ่งที่สำคัญ ก็คือต้องการจับคนหรือกวาดต้อนคนมาเป็นเชลยเพื่อใช้แรงงานด้วย และหนึ่งในกลุ่มคนที่ถูกจับมา ก็หมายรวมถึงพวกเสียมนั่นเองครับ
สรุปที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ก็คือ อาณาจักรขอมเรืองอำนาจ ก็นำทัพไปตีเก็บข้าใส่เมือง คือกวาดต้อนเชลยมาใช้แรงงาน หนึ่งในนั้น คือ “ชาวเสียม” หรือสยาม คือ ไทย-ลาว เมื่อไม่ได้ใช้แรงงานแล้ว เกรงว่าเชลยเหล่านี้จะรวมตัวกันชิงอำนาจ ก็ต้องส่งเชลยเหล่านี้ไปอยู่ที่อื่น ก็คือไปตั้งเมืองใหม่ แล้วก็เป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรขอม ซึ่งต่อมา เมืองขึ้นต่างๆ ก็ค่อยๆ แยกตัวกันเป็นอิสระ และในความเชื่อนั้น เชื่อกันว่า “ชาวเสียม” ถูกส่งให้มาตั้งเมืองที่ละโว้ อโยธยา และสุพรรณภูมิ ทับหรือซ้อนเมืองเดิม หรือใกล้เคียงกับเมืองเดิมที่ชาวมอญหรือชาวรามัญเคยตั้งถิ่นฐานอยู่เดิมนั่นเองครับ
ความเป็นมาเหล่านี้ยังเป็นที่ค้นคว้ากันอยู่ เรื่องของละโว้-อโยธยา ยังมีอีกกระแสความเชื่อเรื่องของความเป็นชาวมอญที่ได้รับอารยธรรมจากขอม สันนิษฐานจากคำว่า “กรุงเทพทวารวดีศรีอโยธยา” ที่เชื่อกันว่า คำว่า “ทวารวดี” คือชาวมอญครับ ส่วนสุพรรณภูมิ ก็ยังมีเรื่องราวอีกความเชื่อหนึ่ง ที่เชื่อว่าไม่ใช่ชาวเสียม(สยาม) ที่ถูกขอมส่งมาตั้งเมืองใหม่ แต่เป็นราชบุตรหนึ่งในหลายพระองค์ของกษัตริย์ทางเหนือ ส่งมาตั้งเมืองใหม่ พร้อมกันกับการตั้งเมืองเชียงแสน บรรพบุรุษของพญามังราย เอาไว้เรื่องนี้จะนำมาลงให้อ่านกันอีกนะครับ