สวัสดีครับ ห่างหายไปสักพักหนึ่งนะครับ กับเกร็ดสาระจากจัตุรัส วันนี้นำเอาเรื่องที่ค้างคาเอาไว้มาฝาก จากเหตุการณ์ที่ขุนศึกแห่งสุพรรณภูมิ นั่นก็คือ พระบรมราชา หรือขุนหลวงพะงั่ว กำลังมีบทบาทโดดเด่นขึ้นมาในละครวิทยุอิงประวัติศาสตร์ เล่าขานตำนานวีรชน ชุด “ปฐมบทแห่งอยุธยา” ครับ เคยนำบทความมาลงไปแล้ว เกี่ยวกับเรื่อง เสียมกุก หรือชาวสยาม ซึ่งก็มีความเห็นของนักวิชาการหลายท่านเชื่อว่า ชาวเสียมที่มาอยู่สุพรรณภูมินั้น เป็นชาวเสียมที่รบเก่ง ย้อนกลับไปเมื่อขอมเรืองอำนาจ ได้นำทัพไปตีเมืองต่างๆ และกวาดต้อนผู้คนมาเป็นเชลยใช้แรงงานต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สร้างปราสาทมากมายที่พบเห็นกันอยู่ในปัจจุบันครับ แต่ต่อมา เมื่อพวกขอมเริ่มเสื่อมอำนาจลง ไม่ได้สร้างปราสาทมากมายดังแต่ก่อน เกรงว่าจะเกิดกบฎในกรุงศรียโสธรปุระ จึงส่งชาวเสียมเหล่านี้มาสร้างเมืองอยู่แถวแม่น้ำสุพรรณบุรี ซึ่งเป็นที่มาของราชวงศ์สุพรรณภูมิของขุนหลวงพะงั่ว หรือพระบรมราชานั่นเองครับ ติดตามอ่านได้จากบทความก่อนหน้านี้ ครับ
แต่สำหรับอีกที่มาหนึ่งของราชวงศ์สุพรรณภูมินั้น มีหลักฐานเกี่ยวกับอาณาจักรน่านเจ้าที่เคยเจริญรุ่งเรืองยิ่งใหญ่เทียบเท่ากับอาณาจักรจีน ซึ่งเกิดการทำสงครามกับจีนบ่อยครั้ง นับตั้งแต่กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ “สินุโล” ซึ่งแปลว่า “ขุนหลวง” หรือ เรามักจะเรียกควบๆ กันไปว่า “ขุนหลวงสินุโล” ครับ กษัตริย์พระองค์นี้ปรากฎพระนามว่าเป็นผู้สถาปนาอาณาจักรน่านเจ้า โดยให้กำเนิดเมืองหลวงชื่อว่า “เมงว่าติง” (ชื่อออกสำเนียงจีน เพราะบันทึกส่วนใหญ่จีนเป็นผู้บันทึก แล้วถูกนำกลับมาพยายามแปลงกันเป็นภาษาท้องถิ่น จึงมีกลิ่นอายของจีนอยู่มากครับ) โดยอาณาจักรของท่านมีอาณาเขตตั้งแต่อ่าวตังเกี๋ยส่วนหนึ่ง มณฑลยูนาน(ปัจจุบัน)ทั้งหมด ไปจนถึงทิเบตครับ ขุนหลวงสินุโลเมื่อรวมอาณาจักรน่านเจ้าได้ ก็ได้ส่งทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีกับจีน ซึ่งตรงกับพระเจ้าถังไท่จง แห่งราชวงศ์ถัง พระองค์ตรัสว่า ชนชาติไต๋นี้เป็นชาติใหญ่ สมควรทำไมตรีด้วย คำว่า “ไต๋” น่าจะสันนิษฐาณว่า เป็นคำๆ เดียวกับคำว่า “ไท้” ซึ่งแปลว่า “ยิ่งใหญ่” จึงอาจเป็นข้อสันนิษฐานถึงที่มาของคำว่า “ไทย” ได้อีกทางหนึ่งก็เป็นได้ครับ
เรามาพูดถึงความเชื่ออีกความเชื่อหนึ่งของที่มาของราชวงศ์สุพรรณภูมิกันต่อครับ ในความเชื่อที่ว่า “ราชวงศ์สุพรรณภูมิ” มาจากราชวงศ์น่านเจ้า ผ่านจากแผ่นดินขุนหลวงสินุโลมาอีก ๓ รัชกาล คือพระเจ้าพีล่อโก๊ะ บ้างเอ่ยพระนามพระองค์ว่า “พีไฮโท” บ้างเอ่ยว่า “ขุนบรม” หรือ “ขุนบรมราชา” ครองราชย์ราวปีพ.ศ. ๑๒๗๒ ครับ กษัตริย์น่านเจ้าพระองค์นี้มีเรื่องราวเกี่ยวกับการทำสงครามมากมายครับ ว่ากันว่า พระองค์ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะเผยแผ่พระราชอาณาเขตและวางรากฐานให้อาณาจักรลงมาทางใต้ จึงทรงส่งพระโอรสหลายพระองค์ลงมาแยกแยกย้ายกันสร้างบ้านแปงเมือง
เรื่องการสร้างบ้านแปงเมืองนี้ เดิมในแถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำโขง แม่น้ำสุพรรณบุรี ฯลฯ คงมีบ้านเมืองอยู่ก่อนแล้ว ทั้งเกิดขึ้นและล่มสลายไป หรือมีชุมชนในท้องถิ่นต่างๆ แต่พื้นที่ในสมัยโบราณไม่มีผู้คนอาศัยกันแน่นหนาอย่างปัจจุบัน จึงคงต่างคนก็ต่างสร้างเมือง ทับอาณาเขตกันบ้าง สร้างเมืองจากเมืองร้างในอดีตบ้าง อยู่ใกล้เคียงกัน ถ้าอยู่กันได้ก็เป็นไมตรีค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้ากันไป แต่ถ้าผิดใจกันก็รบกัน เป็นแบบนี้คละเคล้ากันไปครับ
พระโอรสพระองค์หนึ่ง สร้างเมืองชวา เชื่อกันว่าเป็นที่มาของเชียงทองหรือหลวงพระบาง เป็นต้นวงศ์ของเจ้าฟ้างุ้ม ผู้สถาปนาอาณาจักรล้านช้าง หรือ “ลาว” ในปัจจุบันครับ
พระโอรสองค์หนึ่ง คือขุนคำผง สร้างเมืองโยนก อันเป็นที่มาของอาณาจักรโยนกเชียงแสน ต้นวงศ์ของพญามังราย ผู้สถาปนานครพิงค์ศรีเชียงใหม่ และพญางำเมืองแห่งแคว้นภูกามยาว หรือพะเยา นั่นเองครับ แต่เรื่องนี้ก็มีที่มาอื่นๆ อ่านดูได้ในบทความเก่าเรื่อง “ลวจังกราช” ครับ ในอีกทางหนึ่ง เรื่องของพระเจ้าอู่ทอง หรือสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ ที่เชื่อกันว่า พระองค์ทรงเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าศิริชัย ผู้สืบเชื้อสายมาจาก พระเจ้าไชยสิริเชียงแสน ก็เชื่อกันว่า ว่าพระเจ้าไชยสิริเชียงแสนนี้ ก็สืบเชื้อสายมาจากขุนคำผงเช่นเดียวกันครับ
พระโอรสอีกพระองค์คือ ขุนกุม สร้างเมืองคำม่วน ที่มาของอาณาจักรโคตรบูรณ์
พระองค์ถัดมาคือ ขุนเจือง สร้างเมืองเชียงขวาง
พระองค์ถัดมาคือขุนผาล้าน ครองเมืองบริเวณเบียนเดียนฟู
คราวนี้เรามาถึงพระโอรสของขุนบรมอีกพระองค์หนึ่ง นั่นก็คือ “ขุนอิน” ซึ่งมาสร้างเมืองแถบลุ่มแม่น้ำสุพรรณบุรี ที่เชื่อกันว่าเป็นต้นวงศ์สุพรรณภูมิ และสืบเชื้อสายต่อๆ กันมาจนถึงพระอินทราชา ซึ่งมีพระธิดาคือ “พระนางภุมมาวดี” ที่ได้อภิเษกเป็นพระมเหสีของพระเจ้าอู่ทอง และพระโอรสของพระอินทราชา ที่เป็นนักรบสำคัญของสุพรรณภูมิ ก็คือ ขุนหลวงพะงั่ว หรือ “พระบรมราชา” นั่นเองครับ
เรื่องราวในตำนานมักถูกหยิบยกมาเป็นเค้าโครงในประวัติศาสตร์ ซึ่งสันนิษฐานกันออกไปได้มากมาย จะเป็นประวัติศาสตร์ที่เด่นชัดก็ต่อเมื่อมีหลักฐานรองรับอย่างชัดเจน แต่เมื่อมีหลักฐานใหม่ๆ ที่สามารถหักล้างหลักฐานเก่าได้ ประวัติศาสตร์ก็เปลี่ยนไปตามหลักฐานนั้นๆ ครับ สำหรับเรื่องราชวงศ์สุพรรณภูมิ อู่ทอง สุโขทัย เสียมกุก หรือละโว้ ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่มาก เนื่องจากในอดีตมิได้มีการบันทึกเหตุการณ์อย่างชัดเจนอย่างเช่นปัจจุบัน หรือบางที หลักฐานที่ถูกบันทึกก็ถูกทำลายไปกับการล่มสลายของอาณาจักร หรืออาจมีบ้าง แต่อาจยังไม่ถูกค้นพบก็เป็นได้ครับ ดังเช่นเมื่อเร็วๆ นี้ ที่มีการสันนิษฐานเรื่องหลักศิลาจารึกหลักที่ ๑ ว่าเป็นของทำขึ้นใหม่ แต่ปัจจุบันก็ยังได้มีการถกเถียงเกี่ยวกับหลักศิลาจารึกที่ใช้ภาษาแบบเดียวกันกับศิลาจารึกหลักที่ ๑ คือจารึกวัดบางสนุก ที่ทำให้ยืนยันได้ว่า ศิลาจารึกหลักที่ ๑ มิได้ถูกทำขึ้นในชั้นหลัง แต่เป็นของจริงในยุคสุโขทัย สมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช สำหรับผู้ที่ชื่นชอบเรื่องราวในอดีต คงต้องติดตามกันต่อไปครับ